ทิศทางของอุตสาหกรรมผักและผลไม้ทั่วโลก
Translated By: Editorial Team
Food Focus Thailand Magazine
Full article (TH-EN)
Mr.Bryan Silbermann ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมการตลาดผลิตผลสดทางการเกษตร หรือ Produce Marketing Association (PMA) และ Mr.Michael Worthington ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PMA แห่งประเทศออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ได้นำเสนอทิศทางและแนวโน้มสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตผลสดทางการเกษตรทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ภายในงาน PMA NZ/AU Fresh Connections ครั้งล่าสุดซึ่งจัดขึ้นที่เมืองบริสเบน
“ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในเทรนด์ที่มีความโดดเด่นได้เกิดขึ้นโดย Intermarché ในประเทศฝรั่งเศส โดยเป็นการขายสินค้าที่มีคุณภาพรองลงมา นำมารีแบรนด์ใหม่ แล้วขายให้กับลูกค้าในราคาที่ย่อมเยาลง การตลาดในลักษณะนี้ได้ขยายตัวไปทั่วโลกโดยเป็นความตกลงร่วมกันของทั้งผู้ค้าปลีกและซัพพลายเออร์” Mr.Silbermann กล่าว และอธิบายว่านี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางการตลาดที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเปลี่ยนจากสินค้าที่ตกเกรดมาเป็นโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี
ด้าน Mr. Worthington กล่าวถึงภาพรวมของตลาดในออสเตรเลียว่า “เราเองก็อยู่ในกระแสนี้เช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นการจับกระแสได้รวดเร็วพอๆ กับตลาดอื่นๆ ทั่วโลก” โดยผู้ค้าปลีกทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต่างก็พยายามที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ จริงๆ แล้วเมื่อปีก่อน ทาง Harris Farm Markets ก็เป็นผู้ชนะเลิศได้รับรางวัลนักการตลาดแห่งปีจากแคมเปญ ‘เลือกที่บกพร่อง’ หรือ ‘Imperfect Piks’ และพวกเขายังสามารถขยายพื้นที่ในชั้นวางสินค้าได้เพิ่มเป็นสองเท่าในรอบปีที่ผ่านมาอีกด้วย
“ในปี 2557 มีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีการเกษตรถึง 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2558 ได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เป็น 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่นมีการนำเสนอ ‘ผักพูดได้’ หรือ ‘talking vegetables’ ในร้านขายของชำ โดยเสียงของเกษตรกรจะดังขึ้นเมื่อลูกค้าเอื้อมมือไปจับสินค้า”
ด้าน Mr.Worthington ได้อธิบายถึงสถานการณ์ในออสเตรเลียว่า เทคโนโลยีแบบนี้จะทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมต้นน้ำมากกว่าปลายน้ำ (เช่น ในส่วนของค้าปลีก) ด้วยเพราะแรงงานเป็นหนึ่งในปัญหาหลัก “เรายังได้เห็นการลงทุนจำนวนมากในการปลูกพืชแบบ Protected cropping ผมคิดว่าในอีก 10 ปี ข้างหน้า เราจะได้เห็นโลกที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงว่าเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้อย่างไร”
สิ่งที่กล่าวมานี้เชื่อมโยงกับเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่สำคัญและเข้ามามีบทบาทมากขึ้น Mr.Silbermann กล่าวว่า “ความยั่งยืนส่งผลต่อการให้คำนิยามใหม่ของคำว่า ‘สุขภาพ’ สมัยก่อนเราให้คำนิยามกับสุขภาพของผลิตผลสดทางการเกษตร โดยมองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับโภชนาการล้วนๆ แต่ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมาก โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวต่างสรรหาการบริโภคเพื่อทำให้มีสุขภาพดีและมองแบบองค์รวมมากขึ้น พวกเขาพิจารณาที่ตัวสินค้าว่าดีต่อสุขภาพหรือเปล่า และยังมองไปถึงผลกระทบของกระบวนการผลิตและการกระจายสินค้าว่ารักษ์โลกด้วยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของอาหารที่พวกเขาจะเลือกซื้อและเลือกกิน”
ไม่น่าแปลกใจเลยที่ความตระหนักในเรื่องสุขภาพ ส่งผลให้ปัจจุบันผักและผลไม้กลายเป็นทางเลือกใหม่ของอาหารมื้อว่างในทั่วทุกภูมิภาค “ผลไม้กลายเป็นอาหารมื้อว่างที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุโรป เอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลาง/แอฟริกา และติดอันดับ 1 ใน 5 ในสหรัฐอเมริกา ส่วนผักครองตำแหน่งอาหารมื้อว่างที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิกและยุโรป” Mr.Silbermann กล่าว