Consuming At Least 400 Grams of Fruits and Vegetables for Your Health

บริโภคผักผลไม้ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวันเพื่อสุขภาพ

โดย:    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่

Asst. Prof.Chaniphun Butryee, Ph.D.

Institute of Nutrition, Mahidol University

Full article TH-EN

การบริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน เป็นคำแนะนำขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติร่วมกับองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่มีรายงานการวิจัยโดยทำการวิเคราะห์แบบ Meta-analysis และกำหนดเกณฑ์การบริโภคผัก ผลไม้ วันละ 400-600 กรัมเป็นปริมาณการบริโภคที่สามารถลดภาระโรคต่างๆ ได้แก่ หัวใจขาดเลือด (ร้อยละ 31) เส้นเลือดในสมองตีบ (ร้อยละ 19) ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหาร (ร้อยละ 19) มะเร็งปอด (ร้อยละ 12) มะเร็งลำไส้ใหญ่ (ร้อยละ 2) FAO/WHO จึงกำหนดการบริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อคนต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ (WHO, 2003) ทั้งนี้ ปริมาณ 400 กรัม ไม่นับรวมผักกลุ่มที่ให้แป้ง (Starchy vegetables) ควรมีธัญพืชทั้งเมล็ด (Whole grain) และถั่วชนิดต่างๆ (Legumes) ไม่น้อยกว่า 20 กรัม จะทำให้ได้รับใยอาหารมากกว่า 25 กรัม ในขณะที่ควบคุมสารอาหารประเภทอื่นร่วมด้วย ได้แก่ ไขมัน เกลือ/โซเดียม และน้ำตาล มีรายงานว่าการบริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้น 1 หน่วยบริโภค (80 กรัม หรือ 0.8 ขีด) ต่อวัน สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองได้ร้อยละ 10 และ ร้อยละ 6 ตามลำดับ และลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งบางชนิด (กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ปอด และลำไส้ใหญ่และทวารหนัก) ร้อยละ 1-6 (Lock et.al, 2005)

Thermal Processing of Foods

การแปรรูปอาหารโดยการใช้ความร้อน

โดย: นัทธมน ไชยธงรัตน์

Natthamon Chaithongrat

Client Manager/Food Division

British Standards Institution (BSI)

Full article TH-EN

การแปรรูปอาหารโดยการใช้ความร้อนมีหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีจุดมุ่งหมายจำเพาะเจาะจง ดังนั้น ระดับความมากน้อยของความร้อนจึงขึ้นกับวัตถุประสงค์ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของอาหาร และระยะเวลาการถนอมรักษาอาหาร เช่น การลวก การพาสเจอไรซ์ การแช่แข็ง การอบ การย่าง การทอด การต้ม การสเตอริไลซ์ ฯลฯ

 

ประเภทของการแปรรูปด้วยความร้อน

 

  1. 1. การลวก

คือการให้ความร้อนวัตถุดิบก่อนการแปรรูป โดยให้อาหารสัมผัสกับน้ำร้อน ไอน้ำร้อน ไมโครเวฟ หรือแหล่งความร้อนใดๆ โดยอุณหภูมิที่ใช้ลวกอยู่ระหว่าง 70-105 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาสั้นๆ ที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละชนิด การลวกมักใช้เพื่อเตรียมวัตถุดิบจากพืช เช่น ผัก ผลไม้ ก่อนจะนำไปแปรรูปด้วยวิธีต่างๆ เช่น การแช่เยือกแข็ง การทำแห้ง การผลิตอาหารกระป๋อง เพื่อทำลายเอนไซม์ โดยความร้อนจากการลวกจะทำลายเอนไซม์ที่เป็นสาเหตุของการเสื่อมเสีย เช่น เกิดปฏิกิริยาสีน้ำตาลที่เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ การหืนจากปฏิกิริยา Hydrolytic rancidity การลวกผักผลไม้ด้วยน้ำอาจเติมเกลือแคลเซียม ซึ่งไปรวมตัวกับเพกทินในเซลล์พืช เพื่อช่วยปรับปรุงเนื้อสัมผัสทำให้ผักผลไม้มีเนื้อสัมผัส แน่น แข็ง กรอบ

 

  1. 2. การพาสเจอไรซ์

มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค รวมทั้งจุลินทรีย์และเอนไซม์ที่ทำให้อาหารเสื่อมเสีย เป็นวิธีการฆ่าเชื้อโรคซึ่งใช้ความร้อนไม่สูงมาก (ไม่ถึง 100 องศาเซลเซียส) ในระยะเวลาเหมาะสมขึ้นกับประเภทของอาหาร โดยใช้เวลาและอุณหภูมิที่แตกต่างกัน เช่น อุณหภูมิ 62.8 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที หรือ 77 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15 นาที การใช้อุณหภูมิและเวลานี้ยังไม่สามารถทำลายแบคทีเรียที่ทนร้อนอีกหลายชนิด จึงต้องเก็บผลิตภัณฑ์พาสเจอไรซ์ไว้ที่อุณหภูมิต่ำ เพื่อป้องกันการเจริญของเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น และต้องบริโภคให้หมดภายใน 3 วัน – 1 สัปดาห์หลังเปิดใช้ วิธีนี้ใช้ได้กับอาหารหลายชนิดทั้งของแข็ง ของเหลว ของข้น หรือมีชิ้นเนื้อผสม ใช้ได้กับอาหารก่อนบรรจุและอาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิท

 

  1. 3. การทำให้ปลอดเชื้อเพื่อการค้า

มีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสียและจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค การทำให้ปลอดเชื้อเพื่อการค้าไม่ได้เป็นการทำให้ปลอดเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมด เพื่อคงรักษาคุณภาพของอาหารไว้ แต่ยังคงเหลือจุลินทรีย์บางชนิด เช่น แบคทีเรียที่ทนความร้อนสูง รวมทั้งสปอร์ของแบคทีเรียที่ทนร้อน ซึ่งจุลินทรีย์ที่เหลือรอดนี้จะไม่สามารถเจริญได้ภายใต้สภาวะการเก็บรักษาและขนส่งปกติ ทำให้อาหารเก็บรักษาได้นานที่อุณหภูมิห้อง และปลอดภัยต่อการบริโภค มีอายุการเก็บไม่ต่ำกว่า 6 เดือนที่อุณหภูมิห้อง และสะดวกในการขนส่งและเก็บรักษา

 

ทั้งนี้ ผู้ผลิตอาหารที่ใช้กระบวนการให้ความร้อนจะต้องศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องการแปรรูปอาหารโดยการใช้ความร้อน อาทิเช่น พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 พร้อมกฎกระทรวง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560  และประกาศกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

U.S. Produce Market: 6 Key Trends Driving Sales of Fresh Fruits & Vegetables

6 แนวโน้มหลัก…ดันยอดขายผักและผลไม้สดในสหรัฐอเมริกา

Translated By:           Editorial Team

Food Focus Thailand Magazine

Full article TH-EN

ในช่วงปี 2554-2559 การบริโภคผลิตผลสดทางการเกษตรมีการเติบโตอย่างคงที่ประมาณร้อยละ 1.3 และในรายงาน “Fresh Produce: U.S. Market Trends and Opportunities” ซึ่งจัดทำโดยบริษัทวิจัยด้านการตลาด Packaged Facts ได้คาดการณ์ว่าการเติบโตของผลิตผลสดทางการเกษตรจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564

“ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผักและผลไม้จะได้รับอานิสงส์จากกลุ่มประชากรในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากประชากรในทุกช่วงอายุจะบริโภคผักและผลไม้ในอัตราที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ใหญ่เจน X” David Sprinkle ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจาก Packaged Facts กล่าว รายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคทำให้พวกเขามีกำลังซื้อผักและผลไม้เกรดพรีเมียม รวมทั้งผักและผลไม้ที่ปราศจากการดัดแปรพันธุกรรม ผักและผลไม้ออร์แกนิก ตลอดจนผักและผลไม้ที่เพาะปลูกภายในท้องถิ่น

 

Mr.Sprinkle ได้ให้ข้อมูลถึงบางแนวโน้มที่ดูจะมีอิทธิพลมากกว่าแนวโน้มอื่นๆ โดยบทความนี้จะกล่าวถึง 6 แนวโน้มหลักที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตของตลาดผักและผลไม้สดในประเทศสหรัฐอเมริกาในอนาคต

         1. การซื้อสินค้าออนไลน์และการบริการจัดส่งผลักดันยอดซื้อผลิตผลสดทางการเกษตร: คนยุคมิลเลนเนียลและครอบครัวที่มีเด็กเล็กมักจะมีตารางเวลาที่วุ่นวาย ทั้งยังไม่ค่อยมีเวลาในการวางแผนและซื้ออาหารเพื่อสุขภาพเท่าไรนัก การซื้อสินค้าของชำทางออนไลน์จะดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มนี้ เนื่องจากมีความสะดวกสบาย และผู้บริโภคยังได้รับผลิตผลสดทางการเกษตรและอาหารประเภทอื่นๆ โดยไม่ต้องออกไปซื้อตามร้านค้าและห้างสรรพสินค้า

         2. ความสะดวกสบายกับเซ็ตวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร: เซ็ตปรุงอาหารพร้อมส่งโดนใจคนยุคมิลเลนเนียล และเจน X เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนโสดและผู้ชาย เนื่องจากประกอบไปด้วยวัตถุดิบและส่วนประกอบที่จำเป็นในการเตรียมอาหารในสัดส่วนที่พอเหมาะและถูกต้อง

         3. การสนับสนุนเกษตรกรและสินค้าเกษตรของชุมชน: เราเริ่มได้เห็นโครงการต่างๆ ที่ชุมชนสนับสนุนการเกษตรในบางพื้นที่กันบ้างแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ดูเหมือนจะมีโครงการดีๆ ลักษณะนี้เพิ่มขึ้นทั่วสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผู้บริโภคต้องการบริโภคผลิตผลสดทางการเกษตรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพซึ่งเพาะปลูกในท้องถิ่น และเพื่อสนับสนุนการค้าในท้องถิ่นของตนเอง

          4. ความนิยมของอาหารเพื่อสุขภาพและซูเปอร์ฟู้ด: จากข้อมูลในช่วงปี 2554-2559 พบว่าผู้บริโภคที่ตระหนักในเรื่องสุขภาพจะมองหาอาหารที่พิเศษและสดใหม่ โดยส่วนมากเป็นผู้บริโภควัยหนุ่มสาว ซึ่งอาหารที่อยู่ในกระแสคือ อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เน้นประโยชน์เต็มๆ อย่างผักและผลไม้สด

          5. สร้างสีสันให้ตลาดด้วยกลิ่นรสที่แปลกใหม่: ในสหรัฐอเมริกามีคนหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัฒนธรรม ส่งผลให้อาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อนเติบโตขึ้นมากในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา อย่าง Hot pepper ก็ได้รับความนิยมอย่างไม่น่าเชื่อ Chili pepper ก็เติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 5 ต่อปีในช่วงปี 2554-2559 ทางด้าน Chili pepper ที่ให้รสเผ็ดน้อยอย่างจาลาปีโนก็อยู่ในกระแส

          6. ได้ประโยชน์จาก Flexitarian: ผู้บริโภคที่กินเนื้อสัตว์และนิยามตนเองว่าเป็น “Flexitarian” เป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามอง Flexitarian เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่สามารถชักชวนให้มากินอาหารมังสวิรัติมากขึ้น ซึ่งในภาพรวมจะส่งผลให้การบริโภคผักและผลไม้สูงขึ้นนั่นเอง

ขอเชิญธุรกิจอุตสาหกรรมสมัครเข้ารับรางวัล “อุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2561 ประเภทการเพิ่มผลผลิต”

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ขอเชิญผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมสมัครเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกเพื่อรับรางวัล “อุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2561 ประเภทการเพิ่มผลผลิต” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกำลังใจและประกาศเกียรติคุณผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีความคิดริเริ่มและมีความวิริยอุตสาหะในการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับผู้ประกอบการ ซึ่งผู้สมัครจะต้องได้รับการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ 6 หมวด ได้แก่ ความเป็นผู้นำ การวางแผนการเพิ่มผลผลิต การตอบสนองต่อความพึงพอใจของลูกค้า การบริหารทรัพยากรบุคคล การจัดการกระบวนการ และผลลัพธ์ทางธุรกิจ  ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดใบสมัครและหลักฐานในการยื่นเอกสารประกอบในการสมัครแต่ละประเภทรางวัลได้ที่ www.industry.go.th/industry_award โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ ถึง 16 มีนาคม 2561