สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ

กรุงเทพฯ, เมษายน 2561
ด้วยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความประสงค์จะรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ผู้สนใจ สามารถติดต่อขอรับแบบฟอร์มและยื่นใบสมัคร พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบการสมัคร ตามที่คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการกำหนด จำนวน 8 ชุด (ต้นฉบับ 1 ชุด พร้อมรับรองสำเนา 7 ชุด) โดยแยกเป็น 2 ซอง คือ ซองใบสมัครและหลักฐานประกอบการสมัคร และซองเอกสารแสดงวิสัยทัศน์ปิดผนึกจ่าหน้าซองถึงประธานคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ยื่นใบสมัครด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจเป็นหนังสือให้ผู้อื่นซึ่งเป็นผู้บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายแล้วมายื่นแทนได้ที่ สำนักผู้ว่าการ ชั้น 5 อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เลขที่ 35 หมู่ 3 เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 โทรศัพท์ 0 2577 9185 ในวันทำการตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน– 16 พฤษภาคม 2561 เวลา 8.30-16.30 น. ดาวน์โหลดแบบฟอร์มและรายละเอียดการรับสมัครได้ที่ www.tistr.or.th

ผู้สมัครจะต้องสำเร็จการศึกษาไม่ตํ่ากว่าระดับปริญญาโทและมีคุณวุฒิทางด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท มีอายุไม่เกิน 58 ปี และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักผู้ว่าการ โทร 0 2577 9185

HKTDC จับมือ WORLDEX เดินหน้าชูโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตสู่ตลาดสากลผ่านฮ่องกง

กรุงเทพฯ, 26 มีนาคม 2561
องค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) ร่วมกับ บริษัท เวิลด์เด็กซ์ จี. อี. ซี. จำกัด จัดงานสัมมนาสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มขนาดกลางและขนาดย่อม ภายใต้หัวข้อ “ฮ่องกง ประตูสู่เวทีนานาชาติ และโอกาสทางการค้าสู่ตลาดจีน สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทย” ขึ้น ณ ห้อง Auditorium ชั้น 10 C-ASEAN อาคารไซเบอร์เวิลด์ โดยครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ นางสาวรพีพร สุทาธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและข้อมูล สถาบันอาหาร ร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทย รวมถึงช่องทางการให้การสนับสนุนผู้ประกอบการของหน่วยงานภาครัฐและความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจ

นอกจากนี้ ภายในงาน HKTDC ยังได้ร่วมให้ข้อมูลด้านงานแสดงสินค้าในฮ่องกงที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายตลาดสู่สากลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกหลายงาน ซึ่งหนึ่งในงานที่น่าสนใจก็คือ HKTDC Food Expo 2018 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม 2561 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-664-6488 ต่อ 402

Purextract ร่วมกับ JJING จัดสัมมนา “Oligopin Pine Bark Extract”

Purextract ร่วมกับ JJING จัดสัมมนา “Oligopin Pine Bark Extract”
กรุงเทพฯ, 28 มีนาคม 2561
Purextract ร่วมกับ Jebsen & Jessen Ingredients (Thailand) จัดสัมมนาให้ความรู้ด้านส่วนผสมอาหารจากเปลือกสนธรรมชาติ ภายใต้หัวข้อ “Oligopin Pine Bark Extract” โดยการจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก H.E. Mr Gilles Garanchon เอกอัคราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย เป็นประประธานเปิดงาน ณ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

ทั้งนี้ สารสกัดธรรมชาติจากเปลือกสนฝรั่งเศส (French Maritime Pine) มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่โดดเด่น สามารถกระตุ้นการสร้างและเพิ่มอัตราการสังเคราะห์คอลลาเจนและอิลาสติน ซึ่งเป็นสาระสำคัญและจำเป็นในร่างกายที่มีอยู่ในผิวหนัง หลอดเลือด กล้ามเนื้อ หัวใจ และ กระดูก

 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดตัวโปรแกรม Agrifuture Insights ร่วมกับองค์กรการเกษตรแห่งเยอรมัน ในงาน AGRITECHNICA ASIA 2018

กรุงเทพฯ, 2561

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาวงการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเตรียมเปิดตัวโปรแกรม Agrifuture Insights งานสัมมนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรอย่างเจาะลึก นำมาเปิดตัวที่ประเทศไทยเป็นที่แรกของโลก โดยร่วมมือกับองค์กรการเกษตรแห่งเยอรมัน (ดีแอลจี) ผู้จัดงานแสดงสินค้าและนวัตกรรมด้านเครื่องจักรกลการเกษตรอันดับหนึ่งอย่าง AGRITECHNICA ภายใต้ชื่อ AGRITECHNICA ASIA 2018 ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม 2561 ณ ไบเทค กรุงเทพฯ

ภายใต้โปรแกรม Agrifuture Insights ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคนิคการผลิตสินค้าเกษตรที่น่าสนใจสำหรับภาคเกษตรกรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทางกระทรวงเกษตรฯ มุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับหัวข้อสัมมนาเป็นอย่างมาก พร้อมเสนอแนวทางการแก้ปัญหาและวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมกับเกษตรกรท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

ที่มาของโปรแกรม Agrifuture Insights เกิดจากวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ซึ่งในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนำผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเกษตรจากกระทรวงเกษตรฯ และอัครทูตฝ่ายการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ – อัครราชทูต ชุมเจตน์ กาญจนเกษร ศึกษาดูงาน AGRITECHNICA 2017 ณ ประเทศเยอรมนี และร่วมหารือกับองค์การเกษตรเยอรมัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและนวัตกรรมด้านเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อหาแนวทางพัฒนาภาคเกษตรกรของไทยให้ก้าวขึ้นไปแข่งขันในระดับสากล มุ่งเน้นการกำหนดมาตรฐานใหม่ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ผ่านงานสัมมนาเชิงลึกสำหรับเกษตรกรยุค 4.0 โดยเฉพาะ

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้กล่าวคำปราศรัย ภายในงานประชุม AgriMachinery International Conference ในงาน AGRITECHNICA 2017 ภายใต้หัวข้อ “เครื่องจักรกลการเกษตรสัญชาติยุโรปจะตอบโจทย์ต่อการเกษตรในภูมิภาคอาเซียนได้หรือไม่? ว่า “บริษัทชั้นนำจากทวีปฝั่งตะวันตกหลายแบรนด์ได้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว โดยมีงาน AGRITECHNICA ASIA เป็นตลาดแห่งแรก แสดงให้เห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย”

“ความร่วมมือกันในครั้งนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายการพัฒนาของประเทศไทย เพื่อก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 โดยกระทรวงฯ มุ่งเน้นการปรับโครงสร้าง เพื่อปรับปรุงคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ และสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนด้านการลงทุนในภาคเกษตรกรรมของไทย โดยมีแผนดำเนินงานและส่งเสริมองค์ความรู้ให้เกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้และโครงการริเริ่มต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการพึ่งพาแรงงานในภาคการเกษตร”

อนึ่ง Agrifuture Insights เป็นโปรแกรมนำร่องขององค์กรการเกษตรแห่งเยอรมนี ในการสำรวจความคิดเห็นจากเกษตรกรในระดับนานาชาติ ซึ่งประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่ได้เข้าร่วมและเปิดตัวโปรแกรม

“ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกับทางองค์กรการเกษตรแห่งเยอรมัน นับเป็นการผลักดันและส่งเสริมให้พันธกิจระหว่างประเทศเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม งานสัมมนาในครั้งนี้จะนำมาซึ่งการถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ตลอดจนการเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าใจและนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกสำหรับโปรแกรม Agrifuture Insights เพราะเรามีความมั่นใจในการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และเห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยกระดับเกษตรเกษตรอย่างยั่งยืน” เจน เครเมอร์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีแอลจี เซอร์วิส กล่าว

เครือข่ายลดบริโภคเค็มเปิดตัวเว็บไซต์เพื่อผู้บริโภค www.lowsaltthai.com

กรุงเทพฯ, 2561

ผศ. นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เปิดเผยว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มและสมาคมโรคไตได้เปิดตัวเว็บไซต์เพื่อผู้บริโภคให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยใช้ชื่อว่า www.lowsaltthai.com เพื่อเป็นช่องทางแสวงหาความรู้พื้นฐานและเป็นการส่งเสริมพัฒนาให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงการลดการบริโภคเค็ม ภายในรายละเอียดของเว็บไซต์ได้มีการวางเนื้อหาที่หลากหลายให้มีความน่าสนใจในแต่ละด้าน เริ่มต้นจากที่มาของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เครือข่ายลดบริโภคเค็มได้ทำการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคม มีการแนะนำความรู้เกี่ยวกับโครงการงานวิจัยต่างๆ อาทิ โครงการขับเคลื่อนเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของคนไทยผ่านการอ่านฉลาก โครงการ Food Safety Forum: ลดเกลือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป โครงการการผลิตเครื่องตรวจความเค็มในตัวอย่างอาหารและปัสสาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนทั่วไป เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีสื่อต่างๆ ที่เป็นอาร์ตเวิร์คด้านการรณรงค์ลดการบริโภคเค็มและสื่อ TVC ต่างๆ อาทิ เพลง”ลดเค็มครึ่งหนึ่ง” ของมนต์สิทธิ์ คำสร้อย หรือโฆษณาลดเค็มครึ่งหนึ่งในเวอร์ชั่นรูปแบบต่างๆ ซึ่งผู้เข้าชมเว็บไซต์สามารถเก็บข้อมูลหรือดาวน์โหลดนำไปใช้งานในด้านการศึกษาหรือนำไปใช้ในกิจกรรมของโรงเรียน สถานศึกษา หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นวิทยาทานการใช้เนื้อหาร่วมกันและเป็นการรณรงค์เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนการสอนอย่างสร้างสรรค์ให้เข้าถึงสังคมและเป็นการช่วยรณรงค์ลดการบริโภคเค็มด้วยอีกทางหนึ่ง

ผศ. นพ.สุรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ผู้เข้าชมเว็บไซต์ยังสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ทั้งไฟล์ภาพและเสียง ผ่านหน้าหลัก Less Salt Youtube Channel หรือผ่านคอลัมน์สื่อ TVC ในเว็บไซต์ หรือต้องการนำสูตรเมนูอาหารลดเค็ม (โซเดียม) ก็มีให้เลือกหลายสูตร หลากหลายเมนูอาหาร หรือจะเลือกใช้งานพูดคุย สนทนา หรือแสดงความคิดเห็น แนะนำ ผ่านโซเชียลมีเดียช่องทางอื่นๆ ก็สามารถทำได้ เช่น ผ่านเฟสบุ๊กได้ที่ ลดเค็มครึ่งหนึ่งห่างไกลโรค หรือ ไลน์ได้ที่ @Lowsaltthailand

นิสิตคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คว้ารางวัลนวัตกรรม

กรุงเทพฯ, 2561

คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัด “โครงการประกวดแนวคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมเพื่อพัฒนาอาหารและบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคยุคใหม่” ระหว่างการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมแนวคิดสร้างสรรค์ระดับนิสิตบนพื้นฐานของนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการบูรณาการการเรียนการสอนสู่การพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และส่งเสริมแนวคิดของนิสิตสู่การผลิตและการบริการเชิงพานิชย์

โดยในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท เพียวฟู้ดส์ จำกัด และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) จัดการแข่งขันในรอบตัดสินในวันที่ 30 มกราคม 2561 ที่ผ่านมานั้น โดยมีผลงานเข้าประกวดทั้งหมด 106 ผลงาน และได้ผู้ชนะเลิศประเภทต่างๆ ดังนี้ ประเภทการออกแบบสร้างสรรค์ ได้แก่ ทีม Somtam Shake นำเสนอโดยนางสาวอรพินท์ ฉิมไพบูลย์ และนางสาวพรพิมล แซ่ลิ้ม นิสิตภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ โดยแนวคิดส้มตำแบบใหม่เพื่อสะดวกเหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ประเภทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ ทีม Anticap นำเสนอโดยนายธีรนาถ ก่อมงคลกูล และนายจามีกร อัฒนวานิช นิสิตภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ โดยแนวคิดน้ำยาล้างมือมาอยู่ในรูปแบบแคปซูลง่ายต่อการใช้งานและพกพาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ของผู้บริโภค ประเภทนวัตกรรม ได้แก่ ทีม Wonder film นำเสนอโดย นายณัฐพงศ์ อติพลังกูล และนางสาวอารดา ทรายขาว นิสิตภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ โดยแนวคิดนี้จะเป็นแนวคิดการพัฒนาฟิล์มห่อ มีเอนไซม์ปาเปนช่วยให้เนื้อนุ่มและบนบรรจุภัณฑ์ยังมี Smart label บอกระดับความนุ่มของเนื้ออีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีรางวัลชมเชยอีก 3 รางวัล ได้แก่ NCD Eating Buddy เว็บไซต์ให้บริการอาหารเพื่อกลุ่มคนที่เป็นโรคกลุ่ม NCDs จากนิสิตภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบอกเก็บเสื้อกันฝน ซึ่งเป็นอุปกรณ์เก็บเสื้อกันฝนเพื่อเพิ่มความสะดวก จากนิสิตภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ และ Packaging for Sanitary Pad ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าอนามัยที่มีการดีไซน์ตอบโจทย์ปัญหาสำหรับผู้หญิง จากนิสิตภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ เป็นต้น

สถาบันอาหาร จับมือ สศอ. เปิดตัว 9 เมนูใหม่ เฟ้นสูตรมาตรฐานอาหารไทยต้นแบบ “รสไทยแท้”

กรุงเทพฯ, 2561

ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) จัดทำเกณฑ์มาตรฐานอาหารไทยต้นแบบ “รสไทยแท้” เปิดตัวอาหารคาวหวาน 9 เมนูน้องใหม่ หลังสำรวจจากร้านอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศราว 100 ร้าน พบเป็นรายการอาหารยอดนิยมของชาวต่างชาติ ทั้งอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถนำมาแปรรูปและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ และมีส่วนผสมเป็นวัตถุดิบไทย ระดมผู้เชี่ยวชาญเฟ้นหาสูตรมาตรฐาน ร่วมปรุงและทดสอบรสชาติ ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์รสชาติ E-Tongue และเครื่องมือวัดกลิ่น E-Nose ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อใช้อ้างอิงรับรองเครื่องหมาย “รสไทยแท้” มอบให้ร้านอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าร่วมโครงการต่อไป

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2561 นี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดสรรงบประมาณให้สถาบันอาหารดำเนินงานในโครงการ “ยกระดับมาตรฐานรสไทยแท้อุตสาหกรรมอาหารไทยในตลาดโลก (Authentic Thai Food for the World)” เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตอาหารในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการอาหารของไทยให้มีคุณภาพปลอดภัยและมีคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสม รักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของอาหาร “รสไทยแท้”

“โครงการนี้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2560 โดยได้สำรวจความต้องการในการกำหนดเมนูอาหารไทยเพื่อจัดทำมาตรฐาน “รสไทยแท้” ด้วยการสัมภาษณ์ถึงเมนูอาหารยอดนิยมที่ลูกค้าชื่นชอบจากร้านอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศราว 100 ร้าน โดยในประเทศเน้นกลุ่มจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในแต่ละภาค อาทิ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี เป็นต้น ส่วนต่างประเทศ พิจารณาประเทศที่มีร้านอาหารไทยจำนวนมาก อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา สเปน และสหราชอาณาจักร เป็นต้น”

นายยงวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการคัดเลือกรายการอาหารเพื่อการจัดทำมาตรฐานอาหารไทยต้นแบบ “รสไทยแท้” นั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้ 1) ต้องเป็นรายการอาหารที่อยู่ในความนิยมของผู้บริโภคของชาวไทยและชาวต่างชาติ 2) ต้องเป็นรายการอาหารที่สามารถนำมาแปรรูปและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์เป็นรูปแบบต่างๆ อาทิ ซอสสำเร็จรูป และผงปรุงรสอาหารชนิดต่างๆ หรือเป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่สามารถผลิตและจำหน่ายได้โดยยังคงรสชาติเดิมไม่เปลี่ยน มีการเก็บรักษาได้ยาวนาน และ 3) ต้องเป็นอาหารไทยที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบไทย ซึ่งในปี 2561 นี้ได้กำหนดให้มีการจัดทำมาตรฐาน“รสไทยแท้” ทั้งหมดจำนวน 9 เมนู แบ่งเป็น อาหารคาว 7 เมนู ได้แก่ ทอดมันปลา ฉู่ฉี่กุ้ง กุ้งซอสมะขาม ห่อหมกทะเล แกงเผ็ดเป็ดย่าง ยำวุ้นเส้นทะเล และแกงกะหรี่ไก่ อาหารหวาน 2 เมนู ได้แก่ บัวลอย และข้าวเหนียวสังขยา

“ในวันนี้เป็นการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานอาหารไทยต้นแบบคาวหวานรวม 9 เมนู โดยผู้เชี่ยวชาญอาหารไทยที่ร่วมปรุงได้แก่ อาจารย์วันดี ณ สงขลา ผู้อำนวยการโรงเรียนครัววันดี อาจารย์พงศ์อนันต์ ศิริแสงไพรวัลย์ ผู้แทนสูตรอาจารย์ศรีสมร คงพันธุ์ เชฟบุญเชิด ศรสุวรรณ จากสมาคมเชฟประเทศไทย เชฟชุมพล
แจ้งไพร เชฟกระทะเหล็กอาหารไทย อาจารย์นฤมล เปียซื่อ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อาจารย์ณัฐพงศ์ ธีรนันทพิชิต จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และอาจารย์อภิญญา มานะโรจน์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตโชติเวช”

“ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารไทยเข้าร่วมทดสอบรสชาติอาหารหลายท่าน ได้แก่ นายวิศิษฏ์ ลิ้มประนะ ประธานคณะอนุกรรมการศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย เชฟประชัน วงศ์อุทัยพันธ์ จากสมาคมเชฟประเทศไทย อาจารย์นฤมล นันทรักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารไทย ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารไทย มาดามนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ เจ้าของร้านอาหาร บลู เอเลเฟ่นท์ และอาจารย์ทอรุ้ง จรุงกิจอนันต์ เจ้าของร้านอาหาร Simmer by Praha (ซิมเมอร์ บาย ปราก)”

นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า เมื่อได้ข้อสรุปในการกำหนดสูตรและรสชาติมาตรฐานโดยผู้เชี่ยวชาญแล้ว จะเป็นการผนวกศาสตร์และศิลป์ในการทำอาหารกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยเข้าสู่การวิเคราะห์รสชาติให้ได้เกณฑ์มาตรฐาน กลิ่น และสีสัน ด้วยเครื่องมือตรวจวัดรสชาติอาหารไทย E-Tongue และ E-Nose เพื่อประมวลค่าต่างๆ ขององค์ประกอบที่ทำให้อาหารแต่ละชนิดมีกลิ่นและรส ทำการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้กับอาหารไทยที่ต้องการวิเคราะห์ จนทำให้เกิดมาตรฐานรสชาติอาหารไทยในที่สุด

หลังจากนั้นจะจัดทำคู่มืออ้างอิงมาตรฐานอาหารไทย 2 ภาษา เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์มาตรฐาน“รสไทยแท้” โดยจัดอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร และภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร มีเป้าหมายในการยกระดับผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น 1,000 คน นอกจากนี้ เตรียมจัดงานกาล่าดินเนอร์เพื่อประชาสัมพันธ์เมนูอาหารต้นแบบ “รสไทยแท้” ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ ภูเก็ต สงขลา เชียงใหม่ ชลบุรี และกรุงเทพฯ ในลำดับต่อไป

“ในปี 2561 นี้ เราเปิดให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและโรงงานที่มีความพร้อม หรือมีฐานการผลิตในผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง/พร้อมรับประทาน หรือซอสสำเร็จรูปตามเมนูที่สถาบันอาหารได้รับรองมาตรฐาน “รสไทยแท้” ไว้แล้ว มาสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจจำนวน 25 โรงงาน และ 25 ร้านอาหาร โดยจะได้รับคำปรึกษาด้านวัตถุดิบ รสชาติอาหาร เทคนิคการปรุง สุขลักษณะที่ดีในการปรุง กระบวนการควบคุมคุณภาพ การตรวจวิเคราะห์คุณภาพตามมาตรฐานรสไทยแท้ และตรวจวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยในอาหาร เมื่อผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้จะได้รับอนุญาตให้ใช้ตรามาตรฐาน “รสไทยแท้” เพื่อรับรองคุณภาพรสชาติอาหารไทย และทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง ไปจนถึงอาหารไทยพร้อมเสิร์ฟจะไม่ถูกดัดแปลงจนมีอัตลักษณ์ที่ผิดเพี้ยน เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป”

อนึ่ง การจัดทำมาตรฐาน “รสไทยแท้” เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี 2559 รวม 13 เมนู แบ่งเป็น อาหารคาว 11 เมนู ได้แก่ ส้มตำไทย ผัดไทย กะเพราหมู ต้มยำกุ้งน้ำใส ผัดเปรี้ยวหวานกุ้ง มัสมั่นไก่ สะเต๊ะไก่ ลาบหมู ต้มข่าไก่ พะแนงเนื้อ แกงเขียวหวานไก่ และอาหารหวาน 2 เมนู ได้แก่ ทับทิมกรอบ และข้าวเหนียวมูนมะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา สถาบันอาหารได้เน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องมาตรฐานอาหารไทยให้แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการและสาธิตการปรุงเมนูอาหาร “รสไทยแท้” ในงาน Food and Hospitality World 2016 ณ เมืองกวางโจว ประเทศจีน และงาน International Green Week 2018 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เป็นต้น

เบลเจี้ยนฟรายส์ มันฝรั่งทอดแบบดั้งเดิมสัญชาติเบลเยียม ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในปีนี้

กรุงเทพฯ, 28 มีนาคม 2561

วัฒนธรรมฟรีตค็อตของชาวเบลเยียม (ร้านมันฝรั่งทอด) ได้รับการยกย่องเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เบลเจี้ยนฟรายส์จึงโด่งดังไปทั่วโลกจากการยกย่องขององค์การยูเนสโก ในขณะเดียวกัน มันฝรั่งทอดแบบดั้งเดิมสัญชาติเบลเยียมกำลังบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะประเทศที่ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ผู้ส่งออกเบลเจี้ยนฟรายส์กำลังหาทางเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทย

ร้านเบลเจี้ยนฟรายส์ สามารถพบได้ทุกเมืองหรือทุกหมู่บ้านในประเทศเบลเยียม ประเทศเบลเยียมเพิ่งจะได้รับการยกย่องร้านมันฝรั่งทอดให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยเจ้าฟ้าชายลอรองต์ เจ้าชายแห่งประเทศเบลเยียม ด้วยก้าวแรกสู่ระดับโลกจากการยกย่องโดยองค์การยูเนสโก ประเทศเบลเยียมจึงขึ้นแท่นเป็นประเทศส่งออกของทอดเป็นอันดับหนึ่ง

การที่ประเทศเบลเยียมขึ้นเป็นประเทศอันดับ 1 ในด้านการส่งออกนั้น ได้รับการสนับสนุนจากตัวเลขการขยายตัวของมันฝรั่งแบบดั้งเดิมสัญชาติเบลเยียมในประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2560 บริษัทผู้ส่งออกมันฝรั่งของเบลเยียม 5 แห่งได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Food & Hotel Thailand ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการแสดงศักยภาพในงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับผู้ประกอบการ (B2B) ภายใต้แบรนด์มันฝรั่งทอดแบบดั้งเดิมสัญชาติเบลเยียมที่มีคุณภาพจากใจกลางทวีปยุโรป พร้อมทั้งเป็นการขยายเครือข่ายและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันฝรั่งในตลาดไทยอีกด้วย

บริษัท Agristo, Bart’s Potato Company, Clarebout Potatoes, Ecofrost และ Mydibel ตัวแทนธุรกิจครอบครัวยักษ์ใหญ่ที่สุด 5 แห่งในอุตสาหกรรมประเทศเบลเยียม ส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันฝรั่งและผลิตภัณฑ์พิเศษหลากหลายชนิดให้กับกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยทุกบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล

การรวมตัวครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญสนับสนุนการขายใน 5 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ร่วมทุนโดยสหภาพยุโรป “เบลเจี้ยนฟรายส์ สูตรต้นตำรับ ความอร่อยระดับสากล” นอกจากประเทศไทยแล้ว แคมเปญนี้ยังจัดตั้งขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งได้รับการประสานงานโดย Belgium’s VLAM (Flanders’ Agricultural Marketing Board) และได้รับการสนับสนุนจาก Belgapom สมาคมผู้ค้าอุตสาหกรรมมันฝรั่งและผลิตภัณฑ์แปรรูปของเบลเยียม

นายโรเมน คูลล์ เลขาธิการสมาคม Belgapom ยืนยันว่า ปี 2560 เป็นปีแห่ง “การก้าวสู่ประชาคมโลก” ของเบลเจี้ยนฟรายส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเล็งเห็นโอกาสในการขยายการส่งออกสู่ภูมิภาคนี้ “เพราะภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก เนื่องด้วยชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว และประชากรวัยหนุ่มสาว ควบคู่ไปกับมาตรฐานอาหารและนวัตกรรมของยุโรป พร้อมด้วยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ และประเพณีการรับประทานของทอดของเบลเจี้ยนฟรายส์ จะสามารถขับเคลื่อนความต้องการของตลาดอาหารทอดได้ อุตสาหกรรมมันฝรั่งทอดแช่แช็งในเบลเยียมพร้อมที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมดั้งเดิมสู่สากล เนื่องจากมันฝรั่งทอดของเรามีเอกลักษณ์และแตกต่างจากมันฝรั่งทอดที่มาจากประเทศอื่นๆ”

ทั้งนี้ เบลเจี้ยนฟรายส์ใช้ชื่อเฟซบุ๊กประจำประเทศไทยว่า www.facebook.com/BelgianFriesTh

5 ภาคส่วนการเกษตร แนะรัฐชี้ทางออกของประเทศไทยด้านความปลอดภัยทางการเกษตร

กรุงเทพฯ, มีนาคม 2561

สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง สภาหอการค้าไทย สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และอดีตที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย จัดเสวนา ทางออกของประเทศไทย ความปลอดภัยทางการเกษตร หลังจากบางหน่วยงานนำเสนอข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ สร้างความตื่นตระหนกและไม่มั่นใจในการบริโภค กระทบต่อเกษตรกรรายย่อยกว่า 10 ล้านราย ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและแปรรูปทั้งกลุ่มอาหารคนและสัตว์ จนถึงภาคการส่งออกของประเทศ หวั่นสูญรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท

ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยในฐานะครัวของโลก ส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปจำหน่ายยังต่างประเทศมากกว่า 200 ประเทศ นำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละ 1.2 ล้านล้านบาท แต่จุดอ่อนของเกษตรกรรมไทยต้องประสบปัญหาการคุกคามจากศัตรูพืช โดยเฉพาะวัชพืช ตลอดทั้งปี ดังนั้น การเลือกใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชถือเป็นเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มีการนำเสนอข้อมูลของสารเคมีต่างๆ เช่น พาราควอต ที่ยังขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และไม่ครบถ้วน สมาคมฯ ในฐานะที่อยู่ในวงการเกษตรและยึดหลักการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก จึงได้จัดจัดเสวนาในครั้งนี้ เพื่อเสนอทางออกผ่านมุมมองของนักวิชาการและผู้ที่อยู่ในวงการเกษตร โดยคำนึงถึงบริบททางสังคม วิทยาศาสตร์ ความเป็นไปได้ ณ ปัจจุบัน ในการพัฒนาภาคเกษตรของไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

รศ. ดร.นุชนาฏ จงเลขา ผู้อำนวยการศูนย์อารักขาพืช มูลนิธิโครงการหลวง กล่าวถึงมาตรฐานการผลิตว่า “ผลผลิตของโครงการหลวงมีมาตรฐานสูง มีกระบวนการให้ความรู้และคัดสรรสมาชิกหรือเกษตรกรในโครงการ ซึ่งผู้เข้าร่วมจะต้องปฏิบัติตามกฎของโครงการเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีมาตรฐานตามแบบสากล ไม่ว่าจะเป็นระบบ GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสูง และ Global GAP มาตรฐานระดับโลก ซึ่งต้องมีการควบคุมการใช้สารกำจัดวัชพืช เช่น พาราควอต แต่ที่ผ่านมามีการนำเสนอข้อมูลจากบางหน่วยงานที่ขาดข้อเท็จจริง ส่งผลกระทบต่อกลุ่มสมาชิกเกษตรกรโครงการถูกปฏิเสธการรับซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อมูลต่างๆ บนพื้นฐานด้านวิชาการ มีความรู้ ความชำนาญ และการตรวจสอบ ควรใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐานด้านการวิเคราะห์ การนำเสนอข้อมูลในเชิงลบก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรผู้ผลิตและการส่งออก ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลในเชิงลบแบบนี้จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ”

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางการเกษตรเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกรผู้ใช้ กลุ่มพ่อค้าคนกลาง ภาครัฐ และประชาชน ปัจจุบันมีระบบที่คอยช่วยเหลือเกษตรให้สามารถใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้อง สารเคมีไม่ใช่ศัตรูตัวร้าย แต่หลายคนไปวางภาพให้เป็นเช่นนั้น จริงๆ ในทุกวัน ชีวิตคนเราต้องเผชิญกับสารเคมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการเผชิญนั้นมนุษย์เรารู้จักป้องกันหรือรู้จักใช้แค่ไหน ชีวิตปัจจุบันเป็นโลกของวิทยาศาสตร์แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะปราศจากสารเคมี การใช้อย่างถูกต้องจะไม่มีผลต่อความปลอดภัยและการตกค้างในผลผลิต จากข่าวที่มีผู้หยิบยกการปนเปื้อนของสารกำจัดวัชพืชที่ว่าพบสารพาราควอตปนเปื้อนในผักมากมาย แต่ความเป็นจริงแล้ว ยังไม่เคยมีประเทศคู่ค้าตีกลับสินค้าเนื่องจากการปนเปื้อนพาราควอตหรือสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่นๆ เลย ดังนั้น การนำเสนอข่าวแบบนี้จะส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นและกระทบการส่งออกของประเทศ”

นายประสาท เกศวพิทักษ์ อดีตที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “เกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นเกษตรกรรายเล็ก จำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือให้สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึงเกษตรกรเป็นหลัก หลายเรื่องอาจคิดว่าสามารถแก้ปัญหาได้ง่าย แต่ความเป็นจริงเกษตรกรมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ไม่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตนเอง เงินทุน การเข้าถึงแหล่งทุน ที่ผ่านมาการนำเสนอข่าวอย่างไม่ครบถ้วนทำให้เกิดความสับสน กระทบกับพืชเศรษฐกิจของประเทศ กระทบกับเกษตรกรจำนวนกว่าสิบล้านคน เมื่อผลกระทบเกิดในวงกว้างยิ่งต้องดูให้รอบคอบ อยากฝากถึงผู้รับผิดชอบให้พิจารณาถึงเกษตรกรรายย่อย ทำอย่างไรให้เขาสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในต้นทุนที่ไม่เพิ่มขึ้น”
นายสุกรรณ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้พยายามสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่กลุ่มต่างๆ ทั้งภาคเกษตรกร สังคม และภาครัฐ ในประเด็นความปลอดภัยทางการเกษตร และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ ทันทีที่มีข่าวการปนเปื้อนพาราควอตในพืชผัก ราคาสินค้าตก เกษตรกรขายสินค้าไม่ได้ทันที จึงอยากให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาทุกเรื่องบนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยต้องคิดถึงเกษตรกรเป็นลำดับแรก ในฐานะผู้ผลิตและเป็นกระดูกสันหลังของชาติ”

บทสรุปข้อเสนอแนะทางออกของประเทศไทยด้านความปลอดภัยทางการเกษตร ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในการนำข้อมูลไปตัดสินหรือพิจารณาในการกำหนดแนวทางเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยของภาคเกษตร อาทิ 1) ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องมาตรฐานการผลิต และการใช้อย่างปลอดภัย 2) ภาครัฐต้องมีการเฝ้าระวัง และตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหารและผลผลิต และมีการรายงานผลเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น 3) การจะยกเลิกสารเคมีที่เป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานของเกษตรกร ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ควรแนะนำเกษตรกรให้ใช้ได้อย่างถูกต้อง 4) การเสนอข่าวในแง่ลบ โดยยังไม่พิจารณาให้รอบคอบ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและการส่งออกทันที จึงขอให้มีความระมัดระวังในการนำเสนอข่าว เพราะการตรวจสอบเรื่องสารตกค้างต้องเป็นผู้ชำนาญในการตรวจวิเคราะห์ และการตรวจสอบต้องผ่านห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐานด้านการวิเคราะห์จึงจะมีความน่าเชื่อถือ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปลื้มผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกล็อตแรกของไทยส่งไปจีนแล้ว คาดสร้างรายได้เข้าประเทศได้กว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี

กรุงเทพฯ, 29 มีนาคม 2561

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีปล่อยตู้คอนเทนเนอร์บรรจุผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกเที่ยวปฐมฤกษ์ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ในงาน “ไก่สดล็อตแรกของไทย ส่งออกไกลไปยูนนาน” สู่ท่าเรือกวนเหล่ย มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านในแม่น้ำโขงของประเทศจีน ห่างจากอำเภอเชียงแสน ประมาณ 263 กิโลเมตร โดยมี น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายแพทย์อนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน จังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ การส่งออกไก่สดไปยังประเทศจีนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในคุณภาพ และความปลอดภัยด้านอาหาร (Food safety) ของผู้บริโภคชาวจีนที่มีต่อผลิตภัณฑ์ไก่ของไทย

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เดิมประเทศไทยเคยส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกปรุงสุกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง แต่ได้หยุดส่งออกเนื่องจากการเกิดโรคไข้หวัดนกระบาดในช่วงต้นปี 2547 และตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมการส่งออก ในปี 2560 กรมปศุสัตว์จึงได้เชิญคณะผู้เชี่ยวชาญจากจีนมาตรวจสอบระบบการกำกับดูแลการผลิตเนื้อสัตว์ปีก และตรวจสอบโรงงานเชือดสัตว์ปีกในประเทศไทย จำนวน 19 แห่ง หลังการตรวจสอบเสร็จสิ้นฝ่ายจีนมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การร่วมจัดทำพิธีสาส์นว่าด้วยเงื่อนไขหลักเกณฑ์การตรวจสอบการกักกันและสุขอนามัยในการนำเข้าไก่แช่แข็งและชิ้นส่วนจากราชอาณาจักรไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างสำนักงานกำกับควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันแห่งชาติ (AQSIQ) สาธารณรัฐประชาชนจีน และกรมปศุสัตว์

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ร่วมกันปฏิบัติตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์การตรวจสอบการกักกันและสุขอนามัยในการนำเข้าไก่แช่แข็งและชิ้นส่วนไก่จากประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน และช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ ทั้งในด้านการค้าขายและในด้านความร่วมมืออื่นๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี” นายลักษณ์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานการขึ้นทะเบียนรับรองและหน่วยรับรองระบบงานแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ CNCA ได้ประกาศขึ้นทะเบียนรายชื่อบริษัทผู้ผลิตเนื้อไก่สดของไทยจำนวน 7 ราย ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกเนื้อไก่สดได้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป โดยจีนกำหนดให้ขนส่งสินค้าผ่านเฉพาะทางท่าเรือกวนเล่ย เมืองเชียงรุ้ง หรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนติดชายแดนลาว และอยู่ใกล้กับเขตอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

“การส่งออกสินค้าเฉพาะในล็อตแรกนี้มีจำนวน 14 ตู้คอนเทนอนอร์ มูลค่าราว 35 ล้านบาท และจะมีการส่งออกต่อเนื่อง โดยประเมินว่าการส่งออกของทั้ง 7 โรงงาน จะสร้างรายได้ประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากได้รับรองโรงงานครบทั้ง 19 แห่ง จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี” น.สพ.สมชวน กล่าว