โซเดียมในไส้กรอกมาจากไหน…เลือกบริโภคอย่างไรให้ปลอดภัย

…ไส้กรอกยี่ห้อนี้เค็มมาก ยี่ห้อนี้เค็มน้อย ยี่ห้อนี้รสชาติกำลังอร่อย…เรามักจะได้ยินผู้ที่รับประทานไส้กรอก พูดถึงความเค็มของไส้กรอก และอันตรายจากความเค็มหรืออันตรายจากโซเดียม ความเค็มในไส้กรอกมาจากไหน? ทำไมต้องเค็ม? ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคหรือไม่?

ความเค็มในไส้กรอกมักจะมาจากเกลือแกงหรือโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride; NaCl) ซึ่งต้องเติมตามความจำเป็นในสูตรการผลิตไส้กรอก คนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจว่าใส่เกลือแกงลงในไส้กรอก เพื่อเพิ่มรสชาติให้ไส้กรอกมีความเค็ม แต่จริงๆ แล้ว นอกจากความเค็ม ยังมีความจำเป็นมากในเรื่องการขึ้นรูปของไส้กรอก

ถ้าสังเกตจากเนื้อของไส้กรอก จะเห็นว่าเนื้อมีความเรียบเนียน ไม่เหมือนกับเนื้อของหมูสับที่มีขายตามท้องตลาดหรือที่สับเองตามบ้าน เนื่องจากเกลือทำหน้าที่ช่วยสกัดโปรตีนที่ละลายได้ในเกลือ (Salt-soluble protein) โปรตีนเหล่านี้เป็นโปรตีนสายยาว สามารถทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างเนื้อส่วนที่ถูกแยกออกจากกัน เนื่องจากการบดลดขนาดหรือการสับผสม นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ในการห่อหุ้มเม็ดไขมันที่อยู่ในส่วนผสมของไส้กรอก หากสกัดโปรตีนกลุ่มนี้ออกมาได้ไม่มากพอ จะทำให้ไม่สามารถห่อหุ้มเม็ดไขมันได้ทั่วถึง ส่งผลให้เม็ดไขมันดังกล่าวเข้ามารวมตัวกัน เมื่อถูกความร้อนและเกิดเป็นกลุ่มก้อนของไขมันในไส้กรอก หรืออาจจะไม่รวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน และมีไขมันแยกตัวออกมาจากเนื้อไส้กรอก จะเห็นว่าหากไม่มีเกลือแกงที่เติมลงไปให้มีปริมาณที่เพียงพอก็จะไม่สามารถผลิตออกมาเป็นไส้กรอกที่มีคุณภาพดีได้

จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นว่าไส้กรอกจะมีคุณภาพดี ปัจจัยหนึ่งที่มีผล คือ ปริมาณเกลือแกง หากใส่มากก็จะสกัดโปรตีนที่ละลายได้ในเกลือมากขึ้น แต่ผลกระทบที่เกิดกับผู้บริโภคก็คือปริมาณโซเดียมที่ร่างกายได้รับ

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมต่อร่างกาย คือ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา หากบริโภคมากเป็นระยะเวลานานๆ จะมีผลเสียต่อร่างกาย เมื่อพิจารณาปริมาณโซเดียมที่อยู่ในไส้กรอกซึ่งเกิดจากเกลือแกง ถือว่ามีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับน้ำหนักไส้กรอกที่รับประทานต่อมื้อ แต่หากบริโภคในปริมาณมากในมื้อเดียวหรือต่อเนื่อง ก็อาจจะมีโอกาสได้รับโซเดียมสูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการต่อวัน

นอกจากเกลือแกงแล้ว ในสูตรการผลิตไส้กรอกจะมีการเติมเกลือของไนไตรท์หรือไนเตรท เกลือของแอสคอร์เบทหรืออิริทธอเบท เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน แต่ปริมาณการใส่น้อยมาก เนื่องจากมีกฎหมายกำหนด เช่น จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร กำหนดให้ใส่โซเดียมไนไตรท์ในไส้กรอกได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมผลิตภัณฑ์ ซึ่งถือว่ามีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าที่เติมเกลือแกงลงไปค่อนข้างมาก จึงค่อนข้างจะมั่นใจได้ว่าสารกลุ่มนี้ไม่ใช่ตัวหลักที่จะเพิ่มปริมาณโซเดียมในไส้กรอก

จะเห็นได้ว่า การเลือกบริโภคไส้กรอกอย่างเหมาะสม นั่นคือเลือกบริโภคในปริมาณไม่มากจนเกินไป และรับประทานอาหารชนิดต่างๆ ให้หลากหลาย เลือกรับประทานไส้กรอกจากบริษัทผู้ผลิตที่มีมาตรฐานและมีการควบคุมการผลิตที่ดี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริโภคไส้กรอกที่มีคุณภาพและปลอดภัย

กรมปศุสัตว์ ผนึกกำลังกับ ซีพีเอฟ และผู้ประกอบการติวเข้มเกษตรรายย่อยทั่วอีสาน ร่วมป้องกัน ASF

กรมปศุสัตว์ ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บริษัทเวชภัณฑ์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ตั้งเป้าจัดอบรมแนะมาตรการป้องกัน ASF แก่เกษตรกรรายย่อยจนครบทั้ง 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือภายในเดือนสิงหาคม 2562 และเดินหน้าดำเนินการในภูมิภาคอื่นๆ อย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สร้างความพร้อมเกษตรกรทั่วไทยร่วมเป็นเครือข่ายป้องกันโรค ASF ในสุกรที่เข้มแข็ง ตอกย้ำความเชื่อมั่นผู้บริโภคกระบวนการผลิตเนื้อหมูปลอดภัย สร้างโอกาสทางอาชีพให้เกษตรกร

น. สพ.ศีลธรรม วราอัศวปติ ปศุสัตว์เขต 4 กล่าวว่า เชื้อโรค ASF ไม่ติดต่อหรือส่งผลกระทบต่อมนุษย์ แต่เป็นโรคระบาดรุนแรงในสุกรที่ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่พบการระบาดโรคดังกล่าวในประเทศไทย ถ้าหากพบจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์ รวมถึงผลกระทบด้านสังคมและความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ กรมปศุสัตว์จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการป้องกันโรค ASF อย่างเต็มที่ อาทิ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค (War Room) ในระดับจังหวัด การตรวจเยี่ยมมาตรการป้องกันโรคของสถานประกอบการ และระดมความร่วมมือภาคเอกชน อย่างเช่นที่ ซีพีเอฟจัดอบรมให้เกษตรกรทุกจังหวัดในภาคอีสาน พร้อมลงพื้นที่ให้ความรู้เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยตื่นตัวและยกระดับการป้องกันโรคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

“ภาคการเลี้ยงหมูของไทยส่วนใหญ่เป็นฟาร์มระบบปิดที่มีการป้องกันโรคที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว การผนึกกำลังระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยที่ส่วนใหญ่มีฟาร์มแบบเปิด ปฏิบัติตามระบบป้องกันโรคในฟาร์มอย่างเข้มงวด เป็นอีกแนวทางที่สำคัญในการช่วยป้องกันโรค ASF ในประเทศให้แน่นหนายิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของกรมฯ ในการดูแลการผลิตด้านปศุสัตว์ให้มีคุณภาพและปลอดภัย รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง” น. สพ.ศีลธรรม กล่าว

น. สพ.จตุรงค์ โยธารักษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจสุกร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ติดตามสถานการณ์โรค ASF ในสุกรอย่างใกล้ชิดมากว่า 1 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งยกระดับมาตรการป้องกันโรคในสถานประกอบการ โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มของบริษัทและของเกษตรกรในระบบคอนแทรคฟาร์มครบ 100% พร้อมผนึกกำลังกับกรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรในภูมิภาค และคู่ค้าบริษัทเวชภัณฑ์ ประกอบด้วย บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ แอนิมอล เฮลม์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซีวา แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โซเอทิส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอ็มเอสดี แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมจัดโครงการอบรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรค ASF ในสุกร ให้แก่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยให้ครบ 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเร่งเดินหน้าให้ความรู้มาตรการป้องกันโรคแก่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในภูมิภาคอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีทีมงานร่วมกับปศุสัตว์อำเภอ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงระบบป้องกันโรค และมอบน้ำยาฆ่าเชื้อและอุปกรณ์ป้องกันโรคแก่เกษตรกรรายย่อยให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

“ขณะนี้ ซีพีเอฟได้ดำเนินการอบรมเกษตรกรรายย่อยในภูมิภาคต่างๆ กว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ มีเกษตรกรเข้าร่วมอบรมทั้งสิ้นกว่า 3,000 ราย ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมจะเร่งเดินหน้าอบรมให้แก่เกษตรกรรายย่อยในจังหวัดอุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม อำนาจเจริญ และเลย จนครบทั้งภาคอีสาน และจัดอบรมเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่อื่นๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป” น. สพ.จตุรงค์กล่าว

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคที่อาจเกิดจากกิจกรรมขนส่งสินค้าปศุสัตว์ที่นำเข้า-นำผ่าน-นำออกตามด่านพรมแดน โดยให้การสนับสนุนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและเอกชน ก่อสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ในจังหวัดชายแดน 2 จังหวัดที่มุกดาหาร และเชียงราย จากศูนย์ฯ ทั้งหมด 5 แห่ง เพื่อช่วยยกระดับความเข้มข้นในการป้องกันโรค ASF ระหว่างประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

AGRI-INNO ASIA 2019 – Connecting You through Advancement, Efficiency and Sustainability

GECS จับมือ มช. จัดงานนวัตกรรมเกษตรแห่งเอเชีย “AGRI-INNO ASIA 2019”

บริษัท โกลบอล เอ็กซิบิชั่น แอนด์ คอนเวนชั่น เซอร์วิส จำกัด หรือ GECS ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ มช. จัดงานนวัตกรรมเกษตรแห่งเอเชีย (AGRI-INNO ASIA 2019) ระหว่างวันที่ 7-11 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่

นางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โกลบอล เอ็กซิบิชั่น แอนด์ คอนเวนชั่น เซอร์วิส จำกัด และรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐา โพธาภรณ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลงนามความร่วมมือจัดงาน AGRI-INNO ASIA 2019 เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรแห่งเอเชีย ท่ามกลางสักขีพยาน สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย สมาคมผู้ค้าอุปกรณ์การเลี้ยงสัตว์ไทย และบริษัท เทวดา คอร์ป จำกัด

นางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ เปิดเผยว่า งาน AGRI-INNO ASIA 2019 เป็นงานแสดงสินค้า บริการ นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำ อาทิ การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การเตรียมพื้นที่ การเพาะปลูก จนถึงปลายน้ำ การแปรรูป การตลาด การขนส่ง จนเป็นอาหารที่มีคุณภาพเสิร์ฟบนจานของผู้บริโภค รวมทั้งให้บริการจับคู่ธุรกิจ การประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ และกิจกรรมเยี่ยมชมฟาร์มสาธิต โดยจัดร่วมกับงานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 9 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 60,000 ตารางเมตร ภายในศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ตลอดระยะเวลาการจัดงาน 5 วัน วันที่ 7-11 พฤศจิกายน 2562  คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 80,000 คน จากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา  เวียดนาม จีน และไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐา โพธาภรณ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการร่วมจัดงานครั้งนี้ว่า เป็นการเสริมศักยภาพการจัดงานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 9 ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านวิชาการและด้านพัฒนาภาคธุรกิจ ขณะเดียวกัน เป็นการเฉลิมฉลองในวาระที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครบรอบ 55 ปี โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ การผลิตด้านการเกษตร การพัฒนาเกษตรที่สูง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ธุรกิจเกษตร การส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับนักเรียน นักศึกษา เกษตรกร นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป

นายศราวุธ ฉันทจิตปรีชา นักวิชาการเกษตร สถานเอกอัคราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวถึงอนาคตแห่งนวัตกรรมการเกษตรและอาหารว่า “จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารจากการผลิตภาคการเกษตรก็เพิ่มขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด ดังนั้น นวัตกรรมการเกษตรที่คำนึงถึงระบบนิเวศน์ (Ecologically Oriented Innovation Agriculture) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเลือกนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับฟาร์ม พื้นที่ ชนิดของพืชสัตว์ ทั้งนี้ เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการพัฒนาเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรอย่างต่อเนื่อง อาจเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบในเรื่องของการเกษตรแห่งอนาคต (Homebased for Future Agriculture) ยินดีให้การสนับสนุนงาน AGRI-INNO ASIA 2019 เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านนวัตกรรมการเกษตรสำหรับเกษตรกรและผู้สนใจในเขตภาคเหนือของไทย ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน

นายธีรพงษ์ กาญจนกันติกุล บริษัท เทวดา คอร์ป จํากัด กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมต่อภาคการเกษตรว่า “การนำนวัตกรรมมาใช้ในภาคเกษตรกรรมของไทยเป็นสิ่งจำเป็นมากในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดรน ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลน ลดต้นทุนในการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ อาทิ ใช้หว่านเมล็ดพันธุ์ ฉีดพ่นปุ๋ย สารกำจัดวัชพืช รวมทั้งยังช่วยในการสำรวจพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการแปลงปลูกได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ปัจจุบัน โดรนมีต้นทุนเฉลี่ยเพียง 80-100 บาทต่อไร่ และยังช่วยลดปริมาณการปุ๋ยหรือสารกำจัดวัชพืชลง เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการฉีดพ่น และขจัดปัญหาการเหยียบย่ำทำลายพืชปลูกได้ดีมากกว่าแรงงงานมนุษย์”

นายแดงน้อย พหลทัพ ประธานสมาคมผู้ค้าอุปกรณ์การเลี้ยงสัตว์ไทย กล่าวเสริมว่า “นอกจากปัญหาแรงงานแล้ว เกษตรกรยังมีปัญหาเรื่องหนี้สิน เงินทุน ขาดความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี โรคระบาดในฟาร์มปศุสัตว์ และพื้นที่ฟาร์มขนาดใหญ่ลดลง เพราะการเติบโตของชุมชน อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ส่งผลให้ต้องย้ายฟาร์มออกไปไกลขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตในที่สุด ดังนั้น แนวทางสำคัญในการจัดการปัญหา คือ การนำระบบจัดเก็บข้อมูลและบริหารต้นทุนเพื่อบริหารจัดการฟาร์มและขนส่ง ควบคู่ไปกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการเลี้ยงเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของปศุสัตว์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อํานวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ สํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า งาน AGRI-INNO ASIA 2019 เป็นเวทีของการแสดงสินค้าและบริการสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร การแปรรูป และการตลาดอย่างครบวงจร เปิดโอกาสทางการค้าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในภาคการเกษตรและอาหาร ขณะเดียวกันเป็นช่องทางที่ทำให้นักเดินทางกลุ่มไมซ์ได้เข้ามาสัมผัสมาตรฐานการผลิต บริการและศักยภาพความพร้อมของประเทศไทย โดยในปี 2562 สสปน. ตั้งเป้าดึงนักเดินทางกลุ่มไมซ์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 35 ล้านราย และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศประมาณ 2.2 แสนล้านบาท คาดเป็นกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1.3 ล้านราย สร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 1 แสนล้านบาท และกลุ่มไมซ์ในประเทศ 34 ล้านราย สร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

“การจัดงาน AGRI-INNO ASIA 2019  จะช่วยผลักดันภาคเกษตรกรรมด้วยนวัตกรรม ให้เกษตรกรมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ รวมทั้งต้นทุนการผลิตลดลง สร้างผลกำไรได้มากขึ้น  ขณะเดียวกันเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทย ให้สามารถเติบโตในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน” นางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กล่าวสรุป

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมออกร้านหรือเข้าร่วมชมงาน สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ 0 2026 3583 อีเมล์ info@gecsasia.com หรือเว็บไซต์ www.agri-asia.com

Start up สัญชาติสกอต ประสบความสำเร็จผลิตฟิล์มพลาสติกจากเปลือกกุ้งสร้างวิถีอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมาหลายคนคงเคยได้ยินเรื่องของการผลิตถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ โดยเฉพาะนวัตกรรมในการผลิตพลาสติกจากเปลือกของสัตว์ในตระกูลครัสเตเชียน เช่น กุ้ง ปู และสัตว์อื่นๆ ที่มีเปลือกแข็ง มีหลายโครงการในต่างประเทศเกี่ยวกับการผลิตพลาสติกชีวภาพจากเปลือกของสัตว์ทะเลเหล่านั้นซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารทะเลรวมถึงผู้บริโภคก็ตั้งตารอว่าเมื่อไรจะได้ใช้จริงเสียที…

ล่าสุดบริษัททางด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล CuanTec ประเทศสก็อตแลนด์ ออกมาเผยถึงความสำเร็จของการผลิตฟิล์มพลาสติกจากเปลือกกุ้งที่เหลือจากการผลิตอาหารทะเล และเตรียมขยายผลสู่การผลิตเพื่อใช้งานจริงท่ามกลางการจับตามองจากทั่วโลก

โดยประโยชน์ของฟิล์มพลาสติกชนิดนี้อยู่ที่สารไคโตซานในพลาสติก ไคโตซานเป็นสารที่ถูกเลือกเนื่องจากสามารถย่อยสลายได้จริง มีการนำไปใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ทางการแพทย์แล้ว รวมถึงมีความสามารถในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้เราใช้พลาสติกห่ออาหารได้โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณะที่เป็นพลาสติก

โดยทั่วไป การใช้พลาสติกเพื่อห่อบรรจุอาหารนั้นก็มีจุดประสงค์ในการใช้งาน อย่างเช่น แตงกวาที่ห่อด้วยพลาสติกในซูเปอร์มาร์เก็ตแม้อาจจะดูไม่ดี แต่วิธีนี้ทำให้ผักดังกล่าวมีระยะเวลาการเก็บนานขึ้นและมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นขยะอาหารน้อยลง เพราะการทิ้งขยะอาหารอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าตัวของพลาสติกเอง อย่างไรก็ตาม พลาสติกในรูปแบบที่ใช้อยู่ปัจจุบันนั้นยังเป็นแบบไม่ยั่งยืน ในหนึ่งปี ทั่วโลกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติกมากกว่า 160 ล้านตัน โดยเป็นพลาสติกที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งมีส่วนน้อยที่จะรีไซเคิลได้

ในห้องปฏิบัติการของ CuanTec ซึ่งเป็นบริษัท Start up สัญชาติสกอต นักวิจัยกำลังเปลี่ยนของเสียจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้กลายเป็นห่อพลาสติกชนิดใหม่ที่สามารถทิ้งลงถังหมักได้อย่างปลอดภัย Cait Murray-Green, CEO ของบริษัท Start up เปิดเผยว่า “เรากำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์และเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารที่ต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งยังคงมีลักษณะและให้ความรู้สึกกับผู้บริโภคเหมือนกับพลาสติกปิโตรเลียม แต่ความแตกต่างก็คือหลังจากใช้งานแล้วจะไม่เป็นการเพิ่มขยะพลาสติกซึ่งมีนับล้านตันแล้วไปจบในมหาสมุทรอย่างแน่นอน”

Source: fastcompany.com

ความท้าทายคือการสร้างบางสิ่งที่ทำหน้าที่เหมือนกัน แต่เป็นแนวทางที่ยั่งยืน” – Cait Murray-Green, CEO of the startup, called CuanTec 

ในด้านของการผลิตนั้นใช้กระบวนการหมักคล้ายกับการต้มเบียร์เพื่อแยกสารที่เรียกว่า “ไคติน” จากเปลือกของกุ้งแลงกูสทิน ซึ่งเป็นกุ้งชนิดหนึ่งที่คล้ายกับล็อบสเตอร์ โดยที่สกอตแลนด์อุตสาหกรรมประมงสร้างขยะจากเปลือกกุ้งเป็นจำนวนมาก และแม้ว่าไคตินจะมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่กระบวนการสกัดไคตินนั้นมีต้นทุนสูงมาก จึงยังทำให้เปลือกกุ้งส่วนใหญ่ถูกโยนทิ้งไป

Source: cuantec.com/science

“วิธีโดยทั่วไปในการสกัดสารไคตินนั้นต้องใช้สารเคมีที่รุนแรงและอุณหภูมิสูง ซึ่งนั่นไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเลย แถมยังราคาแพงด้วย ฉะนั้นสิ่งที่เราทำก็คือการทิ้งความคิดที่จะใช้สารเคมีและใช้วิธีทางชีววิทยา” Murray-Green กล่าว

โดยกระบวนการผลิตนั้นจะสร้างวัสดุที่มีความบริสุทธิ์และมีคุณภาพสูง ซึ่งจะมีการนำไปผลิตเป็นฟิล์มใสที่สามารถใช้ในบรรจุภัณฑ์ได้ ที่ผ่านมามีการพยายามใช้วัสดุในรูปแบบดังกล่าวเพื่อผลิตเป็นฟิล์มบรรจุภัณฑ์ แต่ก็พบกับปัญหาเรื่องของสีฟิล์มที่เหลืองซึ่งไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจสำหรับผู้บริโภคเท่าใดนัก วัสดุที่ผลิตขึ้นนี้มีคุณสมบัติต้านจุลชีพตามธรรมชาติจึงเป็นการปกป้องอีกชั้นหนึ่งที่ไม่มีในพลาสติกซึ่งทำจากปิโตรเคมี และเมื่อผู้บริโภคใช้งานเสร็จแล้วก็สามารถโยนลงสวนหลังบ้านของพวกเขาเพื่อให้ย่อยสลายได้เลย

ในทางธุรกิจนั้น ผู้ผลิตฟิล์มพลาสติกถือว่าได้ประสบความสำเร็จในการผลิตฟิล์มต้นแบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างขั้นตอนการผลิตให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนทางด้านกฎระเบียบสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร จากนั้นก็เตรียมผลิตเพื่อใช้จริง โดยล่าสุดทาง Waitrose ซูเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักรให้ความสนใจในการนำไปใช้กับสินค้าอาหารในห้าง โดยมีแผนจะนำไปใช้ห่อเนื้อปลาแซลมอน เป็นการสร้างวัฏจักรในอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างยั่งยืน

สำหรับการใช้งานจริงนั้น บรรจุภัณฑ์ควรจะมีการทำเครื่องหมายเพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าสามารถทิ้งลงในถังหมักเศษอาหารได้เลยไม่ใช่ขยะทั่วไป หรือทำเครื่องหมายด้วยสีย้อมอินฟราเรดเพื่อให้โรงงานรีไซเคิลสามารถแยกขยะได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ทางผู้ผลิตฟิล์มพลาสติกเชื่อว่าทุกภาคอุตสาหกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับวิธีการกำจัดบรรจุภัณฑ์แบบพิเศษเหล่านั้น

“เราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้น คือการที่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สามารถไปถึงจุดที่จะสร้างบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารซึ่งจะต้องย่อยสลายได้” Murray-Green

ทั้งนี้ สารไคตินยังสามารถพบได้ในอาหารอื่นๆ เช่น เห็ด และบริษัทได้วางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบเดียวกันนี้เพื่อสร้างบรรจุภัณฑ์จากแหล่งวัตถุดิบอื่นๆ “สิ่งที่เราตั้งใจไว้ก็คือการสร้างประวัติศาสตร์ทางด้านมลพิษจากพลาสติก” Murray-Green

เป้าหมายและแนวคิดดีๆ แบบนี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับวงการอุตสาหกรรมอาหารได้มาก และหวังว่าความสำเร็จของการผลิตและใช้ได้จริงแล้วนั้นจะได้รับการต่อยอดให้แพร่หลายไปในทั่วโลก เพราะเรื่องของปริมาณขยะพลาสติกนั้นกำลังบั่นทอนระบบนิเวศทางธรรมชาติในหลายพื้นที่ ในมุมของผู้ผลิตอาหารและผู้บริโภคเชื่อว่าหากมีหนทางที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมทุกคนก็พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างแน่นอน และที่สำคัญนวัตกรรมใดก็ตามที่ประสบความสำเร็จออกสู่ตลาดได้แล้ว ท้ายที่สุดก็ต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระด้านราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคด้วย

 

อ้างอิง:

www.fastcompany.com/90388590/this-startup-created-compostable-plastic-wrap-out-of-shellfish-shells

www.cuantec.com/science

ec.europa.eu/research/infocentre/article_en.cfm?artid=36357

 

อุตสาหกรรมอาหารมังสวิรัติแปรรูปในแคนาดาโตต่อเนื่อง เตรียมสร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ

โดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

Continue reading “อุตสาหกรรมอาหารมังสวิรัติแปรรูปในแคนาดาโตต่อเนื่อง เตรียมสร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ”

เนสท์เล่ เปิดตัวช็อกโกแลตนมแบบใหม่ อร่อยหวานให้สบายใจกับเทคโนโลยีการลดน้ำตาล

Continue reading “เนสท์เล่ เปิดตัวช็อกโกแลตนมแบบใหม่ อร่อยหวานให้สบายใจกับเทคโนโลยีการลดน้ำตาล”

Dunkin เดินหน้าไปอีกขั้น…ประกาศใช้ฝาปิดถ้วยกาแฟแบบร้อนผลิตจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ ตอกย้ำความสำเร็จของการเปลี่ยนถ้วยกาแฟจากโฟมเป็นกระดาษ

CANTON, MASS. Continue reading “Dunkin เดินหน้าไปอีกขั้น…ประกาศใช้ฝาปิดถ้วยกาแฟแบบร้อนผลิตจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ ตอกย้ำความสำเร็จของการเปลี่ยนถ้วยกาแฟจากโฟมเป็นกระดาษ”