Continue reading “Agriculture & Food 4.0 # 1: Drones for Agriculture…New Option for Agriculture 4.0”
Month: January 2021
ร่วมแสดงความคิดเห็น U Share V Care เดือน มกราคม 2564
Reliable Processes Consistent Product Quality
กรมประมงประสานโมเดิร์นเทรด สะพานปลา ห้องเย็น เปิดช่องทางกระจายสินค้าสัตว์น้ำ พร้อมสั่งการประมงจังหวัดทั่วประเทศ เปิดตลาดขาย “กุ้ง”
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รอบใหม่ ซึ่งแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคจากตลาดกุ้งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและได้ขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่น สร้างความตื่นตระหนกให้กับพี่น้องประชาชนถึงความปลอดภัยและสุขอนามัยในการบริโภคสัตว์น้ำ กระทบต่อการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ รวมถึงการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยในพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และชาวประมง ตลอดจนผู้ประกอบการในทุกภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงสั่งการให้ทุกฝ่ายเข้มงวดและเพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวัง ตรวจเข้มการนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างรัดกุม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค พร้อมทั้งกำชับให้กรมประมงดูแลช่วยเหลือความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรทุกภาคการผลิตโดยเร็วที่สุด
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ และการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครเป็นแหล่งการค้าสินค้าประมงที่สำคัญของประเทศ ครอบคลุมทั้งตลาดกลางและกิจการห้องเย็นที่กระจายสินค้าจำหน่ายเข้าสู่ตลาดภายในประเทศและการส่งออก โดยเฉพาะสินค้ากุ้งทะเลที่เป็นสินค้าหลักของหมวดสินค้าประมง ซึ่งปกติปริมาณผลผลิตจากฟาร์มเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลมาจากพื้นที่อนุญาตให้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลทั่วประเทศ จะถูกจำหน่ายไปยัง 2 ส่วน คือ
(1) โรงงานแปรรูป (ร้อยละ 80) ปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบ และ (2) การเข้าสู่การซื้อขายที่ตลาดภายในประเทศ โดยเฉพาะตลาดที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร (ร้อยละ 20) ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตกุ้งทะเล รวม 2 เดือน ตั้งแต่มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดอีกราว 33,000 ตัน นอกจากนี้ ในส่วนของกุ้งก้ามกราม ยังได้มีการคาดการณ์ตัวเลขผลผลิตในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งจะมีปริมาณอีกกว่า 8,000 ตัน ดังนั้น กรมประมงจะต้องเร่งดำเนินการมาตรการเร่งด่วนเพื่อระบายสินค้าทั้ง 2 ชนิด ออกสู่ตลาด และช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร่งด่วนเพื่อป้องกันการเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา
โดยขณะนี้ กรมประมงได้กำหนดแนวทางในการกระจายผลผลิตกุ้งและสินค้าสัตว์น้ำ ดังนี้
1. เปิดสถานที่ให้เกษตรกรนำกุ้งมาจำหน่ายโดยตรงแก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งเปิดจำหน่ายออนไลน์ผ่านทาง Fisheries Shop ของกรมประมง
2. มอบหมายให้ประมงจังหวัดทั่วประเทศ นำผลผลิตสัตว์น้ำมาจัดจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งขณะนี้มีการนำร่องจำหน่ายกุ้งก้ามกรามในพื้นที่จังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี แล้ว โดยมีประชาชนให้ความสนใจมาเลือกซื้อกุ้งเป็นจำนวนมาก
3. ขอความร่วมมือห้องเย็นโรงงานแปรรูปในการรับซื้อกุ้งทะเล
4. ประสานความร่วมมือกับกรมการค้าภายในนำสินค้าปลอดภัยมาจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดต่างๆ เช่น บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด เพื่อกระจายสินค้า
5. ประสานความร่วมมือในการหาตลาดใหม่ๆ ในการกระจายสินค้าสัตว์น้ำ เช่น ตลาดไท
6. ประสานความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) ในการจำหน่ายสินค้าผ่านทาง Call Center และ เว็บไซต์ www.ohlalashopping.com
7. ประสานความร่วมมือกับกองทัพบกในการรับซื้อกุ้ง เพื่อนำไปเป็นอาหารให้กับกำลังพล
8. ประสานความร่วมมือกับกรมอนามัยในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และเป็นแหล่งจำหน่ายกุ้ง
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการช่วยกระจายกุ้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอีกด้วย อาทิ สมาคมสื่อมวลชนเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศิลปินดารา เป็นต้น
โดยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 กรมประมงได้มีการประชุมหารือร่วมกับตลาดไท นำโดยนายโอฬาร พิทักษ์
ที่ปรึกษาตลาดไท และนายโชคชัย คลศรีชัย กรรมการผู้จัดการ เพื่อเตรียมหาตลาดอาหารทะเลแหล่งใหม่รองรับและกระจายสินค้าสัตว์น้ำ โดยจะมีการพัฒนาพื้นที่กว่า 2,300 ตารางเมตร เปิดให้เป็นโซนจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำปลอดภัย ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำในภาวะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจะเปิดให้เกษตรกรที่เดือดร้อนไม่มีช่องทางการขายสินค้ามาจำหน่ายได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมประมง ส่วนสถานที่ทางตลาดไทได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในเรื่องของการเฝ้าระวังตรวจวัดอุณหภูมิให้กับทั้งค้าและผู้ขายในทุกจุดทั่วตลาดไท และยังมีการสุ่มตรวจ swab test กับผู้ค้าในพื้นที่ ตลอดจนการหยุดการจำหน่ายสินค้าที่มาจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งกรมประมงคาดว่าจะเริ่มดำเนินการกระจายและจำหน่ายสินค้ากุ้งและสัตว์น้ำอื่นๆ ได้ภายในเดือนมกราคม 2564 และในอนาคตจะร่วมกันพัฒนาให้เป็นตลาดสัตว์น้ำยุคใหม่ ตลาดกลางสินค้าสัตว์น้ำที่ได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัย สินค้าคุณภาพปลอดภัย เกษตรกรจำหน่ายเอง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้สามารถเข้าสู่กลไกการค้าได้โดยตรง ลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง และผู้บริโภคก็ได้สินค้าดี ราคาเหมาะสมด้วย
สำหรับสถานการณ์ความตื่นตระหนกต่อการบริโภคกุ้งในขณะนี้ กรมประมงเชื่อมั่นว่าคลายลงแล้ว และประชาชนผู้บริโภครับรู้รับทราบถึงข้อมูลที่ถูกต้องว่ากุ้งและสินค้าสัตว์น้ำไม่ได้เป็นพาหะของโรคโควิด-19 อย่างแน่นอน แต่การปนเปื้อนของเชื้อไวรัสนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากการขาดสุขอนามัยที่ดี ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานและสัมผัสสัตว์น้ำ จึงขอให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและผ่านการผลิตที่มีมาตรฐาน เน้นให้ความใส่ใจในเรื่องสุขอนามัยเป็นสำคัญ โดยไม่ควรรับประทานอาหารสัตว์น้ำที่ดิบหรือไม่สุก ไม่ควรใช้มือสัมผัสกับสัตว์น้ำโดยตรง อาจใช้ถุงมือหรืออุปกรณ์ในการหยิบหรือตัก ควรล้างทำความสะอาดสัตว์น้ำเป็นอย่างดีก่อนทำการปรุงอาหารทุกครั้ง และดูแลตัวเองให้ดี ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19…แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน…อธิบดีกรมประมง กล่าว