เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย สำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กรมการค้าต่างประเทศ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จัดการเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง “ความมั่นคงทางอาหารในบริบทการค้าไทย” (Food Security in the Context of Thai Trade) ณ โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ แกรนด์ สุขุมวิท
ในงานเสวนานี้ ได้รับเกียรติจาก คุณสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา เป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการเสวนา และดร.ชุมเจธว์ กาญจนเกษร ผู้จัดการทั่วไป สำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve; APTERR) บรรยายพิเศษ เรื่อง “สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน” ซึ่งจากข้อมูลของ 5 สินค้าเกษตร (Commodities) หลัก อันได้แก่ ข้าว ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพด ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการนำเข้าและส่งออกภายในภูมิภาคอาเซียน พบว่าสินค้าที่มีบทบาทมากที่สุดอย่าง “ข้าว” ของประเทศไทยนั้นมีปริมาณการผลิต 22 ล้านตัน (ข้อมูลถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566) ซึ่งเป็นอันดับที่ 3 รองจากประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม ตามลำดับ โดยมีปริมาณการส่งออกกว่า 8 ล้านตัน น้อยกว่าประเทศเวียดนามเพียง 3 แสนตัน
นอกจากนี้ในช่วงเช้ายังมีการร่วมเสวนาโดย คุณธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และคุณกนกวรรณ ขับนบ หัวหน้างานสนับสนุนทุนวิจัยด้านอาหาร สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ในหัวข้อ “ความมั่นคงและความยั่งยืนทางอาหารในมุมมองของอาหารอนาคตไทย” ซึ่งพบว่า แม้ประเทศไทยจะมีความพร้อมในภาคการเกษตรสูง แต่การขับเคลื่อนอาหารอนาคตไทยสู่ความสำเร็จนั้นยังต้องอาศัยความร่วมและการพัฒนาในทุกภาคส่วน ทั้งการเชื่อมโยงงานวิจัยให้เกษตรกรสามารถนำมาใช้ได้จริง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ปรับตัวทันตามความต้องการของตลาด การสร้างความตระหนักรู้และสื่อสารกับผู้บริโภค ตลอดจนการผลักดันผลงานวิจัยต่างๆ ไปสู่การจำหน่ายในท้องตลาด
ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจมีผลต่อการส่งออก อาทิ กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าที่กำลังชะลอตัว การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ วิกฤตราคาอาหารแพง มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ตลอดจนนโยบายป้องกันตัวเองของหลายประเทศ ที่ “จำกัด-ห้าม” ส่งออกอาหารบางชนิดเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และช่วงบ่ายได้มีการเสวนาในหัวข้อ “ถกแถลงแนวทางการส่งออกสินค้าอาหารในภาวะวิกฤต” โดยได้รับเกียรติจาก คุณอรรัตน์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คุณหิรัญญา สระสม ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คุณสุกัญญา ใจชื่น กรรมการสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคุณวิมล ปั้นคง รองผู้อำนวยการ (วิชาการ) สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา เพื่อแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับแนวทางในการบริหารจัดการด้านต่างๆ หากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวมากขึ้น