ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบรรจุหีบห่อและบรรจุภัณฑ์มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในด้านประสิทธิภาพ จากการนำวัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ โดยเน้นความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม หลายเสียงจึงพยายามเร่งผลักดันให้มีการพิจารณาแก้กฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำขวดบรรจุเครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาใช้ได้ในประเทศไทย
นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 ปี 2548 มีข้อกำหนดห้ามใช้พลาสติกรีไซเคิลสำหรับบรรจุอาหาร แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ทำให้คุณภาพของพลาสติกรีไซเคิลปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับใช้บรรจุอาหารมากยิ่งขึ้น รวมทั้งภาคเอกชนมีความต้องการนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ทำเป็นภาชนะบรรจุอาหาร ที่น่าสนใจ คือ พลาสติกชนิด PET ทาง อย. จึงได้มีการทบทวนข้อกำหนดห้ามใช้พลาสติกรีไซเคิลสำหรับบรรจุอาหาร ขณะนี้ความคืบหน้ายังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาข้อมูลทางวิชาการโดยคณะอนุกรรมการด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการทบทวนข้อกำหนดจะเป็นการส่งเสริมการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
นางสาวศลินา แสงทอง นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ทบทวนกฎหมายให้เกิดการอนุญาตอย่างเหมาะสมและปลอดภัย โดยแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้แทนสถาบันการศึกษา ร่วมพิจารณาและวิเคราะห์กฎหมายกำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อมอบทุนให้กับ 2 มหาวิทยาลัย คือ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการภายใต้พัฒนาวิธีการทดสอบและประเมินความปลอดภัย ในส่วนความคืบหน้าทั้ง 2 มหาวิทยาลัยได้ส่งมอบร่างให้ทาง อย.พิจารณา ก่อนนำไปเป็นเงื่อนไขการอนุญาตและประกอบการควบคุมกฎหมาย
“ทาง อย. ได้กำหนดขอบข่ายการประเมินตัวพลาสติกรีไซเคิล เฉพาะตัวพลาสติกที่มีกระบวนการรีไซเคิลแบบทุติยภูมิ โดยเริ่มนำร่องไปที่พลาสติกชนิด PET ก่อน เนื่องจากมีโรงงานรีไซเคิลพลาสติกชนิดนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งหากร่างหลักเกณฑ์นี้แล้วเสร็จ จะนำไปสู่การวางกรอบแนวทางการยื่นเอกสารว่าผู้ประกอบการต้องเตรียมเอกสารหรือข้อมูลด้านใดบ้าง โดยมีค่าปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดที่ยอมรับได้เป็นเกณฑ์การตัดสิน หากผู้ประกอบการยื่นประเมินแล้วไม่ผ่าน อย.ไม่ได้ปิดกั้น สามารถกลับมาขอยื่นเอกสารเพิ่มเติมได้”
ความคืบหน้าการทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ป.สธ.295) เกี่ยวกับภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก มีขั้นตอน ดังนี้ 1.คณะทำงานประชุม 5 ครั้ง เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลการผลิตและใช้ภาชนะบรรจุจากพลาสติกรีไซเคิลตลอดห่วงโซ่ พร้อมดำเนินการ 5 ประการ ได้แก่
1.พิจารณา (ร่าง) การกำกับดูแลภาชนะพลาสติกที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล และ (ร่าง) กิจกรรมรองรับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการพัฒนาแนวทางการประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหาร ระยะเวลาโครงการ 3 ปี เป้าหมายปีแรก คือ (ร่าง) แนวทางการประเมินกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกและความปลอดภัยเม็ดพลาสติกรีไซเคิล
2.หาแนวทางการอนุญาต ซึ่งต้องมีการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิล นำมากำหนดชนิดพลาสติก และประเภทภาชนะบรรจุใช้แล้วที่เป็นวัตถุดิบในการรีไซเคิล เพื่อผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหาร ก่อนหาแนวทางการประเมินหลักเกณฑ์และเงื่อนไข กำหนดเกณฑ์ค่าปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดที่ยอมรับได้ใน rPET รวมทั้งหาวิธีทดสอบประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลในการกำจัดสารปนเปื้อน และเรื่องเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นรายงานผลการประเมินประสิทธิภาพ จากนั้นออกเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับภาคอุตสาหกรรม
3.พิจารณารูปแบบและแนวทางการประเมินประสิทธิภาพกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกและความปลอดภัยเม็ดพลาสติกรีไซเคิล โดยเลือกใช้แนวทางการประเมินการได้รับสัมผัส เพื่อกำหนดเกณฑ์ปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดที่ยอมรับได้ ตามแนวทางของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยต้องสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดค่าปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดที่ยอมรับได้ เช่น ข้อมูลสัดส่วนของอาหารที่บรรจุในวัสดุสัมผัสอาหารแต่ละชนิด (Consumption factor; CF) และความหนาภาชนะบรรจุที่มีการใช้ในประเทศไทย จัดทำเป็น (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทบทวนข้อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานภาชนะที่ทำจาก Virgin PET และ rPET ทบทวนเงื่อนไขการใช้ภาชนะบรรจุ พร้อมนำ (ร่าง) แนวทางการประเมินไปพิจารณาเป็นเงื่อนไขในประกาศ
4.กำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์ เงื่อนไขต่างๆ ที่ต้องมีใน (ร่าง) แนวทางการประเมิน
5.พิจารณาทบทวนคุณภาพหรือมาตรฐานภาชนะบรรจุที่ทำจาก PET และ rPET
จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ อ.8+อ.7 เพื่อพิจารณาร่างประกาศ หลักการและรายละเอียดการทบทวนข้อกำหนดต่างๆ พร้อมพิจารณาเงื่อนไขและแนวทางการอนุญาตภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกรีไซเคิล ก่อนขอข้อคิดเห็นต่อ (ร่าง) แนวทางทางการประเมิน (ร่าง) ประกาศแล้วส่งให้คณะอนุกรรมการฯ อ.2 พิจารณา พร้อมเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์และต่อด้วยการพิจารณาของคณะกรรมการอาหารและยา ก่อนเสนอร่างประกาศให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เซ็นลงนาม
ส่วนภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมความพร้อม หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจต้นทางของการรีไซเคิล ต้องจัดเตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นการประเมินและทำการทดสอบประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลว่าผ่านตามเกณฑ์หรือไม่ สำหรับผู้ผลิตภาชนะบรรจุต้องไปเลือกโรงงานที่ผ่านการประเมิน และต้องนำเอกสารหลักฐานมายื่นยืนยันกับทาง อย.ว่าได้ใช้โรงงานที่ผ่านการประเมินแล้วจริง นอกจากนี้ อย.ยังดำเนินการคู่ขนานจัดตั้งหน่วยงานรับรองทำหน้าที่ประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิล โดย อย.อาจไม่ได้เป็นผู้ประเมินเอง แต่เป็นฝ่ายกำหนดเงื่อนไขและรับผลการประเมินนำไปพิจารณา
นายนันทิวัต ธรรมหทัย กรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า “เรื่องนี้ต้องเดินหน้าไปด้วยกันทั้ง Supply Chain ซึ่งหากดูราคา rPET ในตลาดโลกเวลานี้ จะค่อนข้างสูงกว่า Virgin PET อยู่พอสมควร จึงต้องยอมรับการหันมาใช้ rPET ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนที่ค่อนข้างสูง โดยหลังแก้กฎหมายคงยังไม่เห็นทุกบริษัทหันมาใช้ rPET ทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความมั่นใจผู้บริโภคที่มีต่อการใช้ rPET ว่ามีความปลอดภัย และไม่ได้มีผลกระทบต่อสุขภาพ”
นายสมศักดิ์ สิทธิชาญคุณะ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เห็นตรงกับทาง อย.ว่าควรมุ่งไปการเดินหน้าสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้เทียบเท่าในระดับสากล รวมทั้งคำนึงเรื่องความสะอาด และสารปนเปื้อนต่างๆ ให้อยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย มีกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน ซึ่งกฎหมายนี้จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าจะมีการจ้างงานในประเทศมากยิ่งขึ้น และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ขณะนี้ผู้ประกอบการกำลังจับตามองว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องนี้อย่างไร อยากให้เพิ่มจำนวนห้องปฏิบัติการทดสอบกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ และจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน ที่สำคัญเรื่องค่าใช้จ่ายในการทดสอบ คาดในช่วงแรกจะค่อนข้างสูงมาก แต่ถึงอย่างไรภาครัฐควรให้การส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจผู้ประกอบการสนใจมากยิ่งขึ้น หรืออาจนำร่องหน่วยงานราชการบางแห่งเริ่มใช้แนวคิดนี้ ทำให้เกิดการจัดซื้อของทางภาครัฐ เพื่อปรับค่าใช้จ่ายในการทดสอบให้ต่ำลง
รศ. ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ขั้นตอนและวิธีประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหารและที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย คือ ใช้แนวทาง USFDA หาค่า Consumption factor (CF) ของ rPET และพิจารณาเปอร์เซ็นต์การนำเข้าขวด PET มาใช้ซ้ำกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร (% misused PET) เพื่อกำหนดค่าปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดที่ยอมรับได้ (Maximum acceptable contaminant level) ในวัสดุ rPET ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจการใช้วัสดุสัมผัสอาหารที่ผลิตจากพลาสติกและวัสดุชนิดอื่นทั้ง 24 ชั่วโมง ด้วยวิธีลงพื้นที่จริงใน 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ขอนแก่น กรุงเทพฯ ปทุมธานี และสงขลา ปรากฏว่าพลาสติกชนิด PP มีปริมาณการใช้ต่อวันสูงสุดถ้านับจากจำนวนชิ้นวัสดุ และรองลงมาเป็นพลาสติกชนิด PET แต่ถ้าเทียบกับน้ำหนักอาหารที่สัมผัสกับวัสดุสัมผัสอาหาร (กรัม/มิลลิลิตร) การใช้พลาสติกชนิด PET มีจำนวนสูงสุด
การกำหนดค่าปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดที่ยอมรับได้สำหรับวัสดุ rPET ค่า Consumption factor (CF=0.39) ได้จากการสำรวจข้อมูลการได้รับสัมผัสวัสดุสัมผัสอาหารใน 24 ชั่วโมง สามารถนำไปกำหนดค่าระดับการปนเปื้อนสูงสุดที่ยอมรับได้ ในวัสดุ rPET (ความหนาแน่น 1.4 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ความหนาแน่น 0.3 มิลลิเมตร) ต้องมีค่าไม่เกิน 47.39 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม วัสดุสัมผัสอาหาร จึงจะทำให้ปริมาณการได้รับสัมผัสสารปนเปื้อนไม่เกินค่า EDI”
สำหรับผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษา จะเป็นข้อมูลสำหรับประเมินความปลอดภัยของ rPET เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยานำไปใช้ประกอบการปรับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่ออนุญาตการใช้พลาสติกรีไซเคิลชนิด PET เป็นวัสดุสัมผัสอาหาร ซึ่งเมื่อกำหนดค่าปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดที่ยอมรับได้แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการวางแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้เชี่ยวชาญที่ต้องเป็นผู้ประเมิน
รศ. ดร.อำพร เสน่ห์ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขอบเขตโครงการการพัฒนาและประเมินวิธีการทดสอบวัสดุสัมผัสอาหาร ปีที่ 1 rPET ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีดังนี้
1.ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับกฎระเบียบและแนวทางการประเมินความปลอดภัยของพลาสติกรีไซเคิล rPET ในประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป
2.นำเสนอข้อมูลผลการศึกษาวิเคราะห์ตามข้อ 1 รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
3. ประชาสัมพันธ์กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับวัสดุสัมผัสอาหารจาก rPET
4.ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินหรือกำหนดแนวทางการทดสอบ rPET
4.1 สำรวจข้อมูลชนิดของวัสดุที่ใช้ผลิตภาชนะบรรจุอาหาร PET
4.2 การพัฒนาวิธีการเตรียมตัวอย่าง PET ที่มีการเติมสารปนเปื้อนตัวแทนสำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลในการกำจัดสารปนเปื้อน
4.3 การพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ติดตามปริมาณสารปนเปื้อนตัวแทนใน PET
4.4 การพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ไมเกรชันของสารปนเปื้อนตัวแทน
4.5 ประมวลผลวิเคราะห์คัดเลือกแนวทางการทดสอบ rPET
5.ประเมินปริมาณการสัมผัสสารเคมีจากการใช้ภาชนะ PET บรรจุอาหาร (กรณีศึกษาน้ำดื่มบรรจุขวด PET)
6.เสนอแนวทางการประเมินความปลอดภัยวัสดุสัมผัสอาหารจาก rPET โดยเน้นการวิเคราะห์สารเคมี/ทดสอบไมเกรชัน (จากข้อ 4 และข้อ 5)
7.สำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมของเครื่องมือในหน่วยบริการทดสอบวิเคราะห์ทั่วประเทศในภาครัฐและเอกชน
8.เพื่อนำเสนอผลการวิจัยและถ่ายทอดผลการดำเนินงานสู่สาธารณะ
แม้กฎหมาย “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” จะยังไม่ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม แต่บรรดาผู้ประกอบการหลายรายก็ตื่นตัวขานรับ เพราะเล็งเห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์จากการผลิตและใช้ขวดพลาสติกที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลในประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ต้องคอยจับตาดูความคืบหน้ากันต่อไป แต่เหนือสิ่งอื่นใดการเดินหน้ากฎหมายต้องยึดหลักความปลอดภัยผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ