
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จับมือศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลไทย และเครือข่ายธุรกิจ Moc Bizclub จัดงานสัมมนาการสร้างและพัฒนาศักยภาพ e-Commerce หลักสูตรก้าวถูกทิศ พิชิตธุรกิจฮาลาล ยุค New Normal ภายใต้โครงการเพิ่มโอกาสการค้าด้วย e-Commerce เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลค้าออนไลน์ โดยมี ผศ. ดร.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพิชิต รังสิมันต์ นายกสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลไทย นายสรยุทธ อังคณานุกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้าน e-Commerce และนายสยาม ทรัพย์สีทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพ ให้เกียรติร่วมบรรยาย
การปรับตัวธุรกิจฮาลาล
นายพิชิต เปิดประเด็นการปรับตัวธุรกิจฮาลาลเพื่อเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆ ว่า สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการควรคำนึงและใส่ใจ คือ การทำสินค้าให้มีคุณภาพ ถ้าเป็นธุรกิจอาหารก็ต้องมีรสชาติอร่อย ถูกปากชาวบ้าน ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ดูแล้วน่าสนใจ น่ารับประทาน ช่วยเพิ่มราคาสินค้าได้ แม้ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs จะมีทุนน้อย สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจอาหารฮาลาล คือ ความซื่อสัตย์ ใส่ใจเลือกวัตถุดิบ ทำอาหารสะอาด ถูกหลักอนามัย สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค
ตอบรับเทรนด์การส่งอาหารเดลิเวอรี
ด้าน ผศ. ดร.นิฟาริด กล่าวว่า ในยุคโควิด-19 การส่งอาหารเดลิเวอรีได้รับความนิยมสูงมาก บางร้านมีเครื่องหมาย Clean Food Good Taste รับรอง ในขณะที่บางร้านไม่มี เรื่องนี้ภาครัฐควรเข้าไปดูแลตรวจสอบอย่างจริงจัง และในอนาคตควรเพิ่มคำว่า Safe in Transformation เข้าไปด้วย เพื่อให้ครอบคลุมครบทุกวงจร โดยหัวใจหลักของสินค้าเพื่อการบริโภคเน้นเรื่องความปลอดภัยและรสชาติอร่อย หากผู้ประกอบการหน้าใหม่ต้องการอยากจะเปิดตลาด อาจใช้วิธีการส่งสินค้าตัวอย่างไปให้ผู้บริโภคได้ลองชิม หรือแนะนำสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งผู้ประกอบการหน้าใหม่ควรใส่ความคิดสร้างสรรค์ กล้านำเสนอสิ่งใหม่ นำสิ่งที่เคยทำไปต่อยอดพัฒนาขยายสินค้าให้มีความหลากหลายแปลกใหม่มากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงร้านค้าต่างๆ เพื่อรู้เขารู้เรา นำข้อมูลไปปรับปรุงการให้บริการ เพิ่มการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า สร้างความไว้ใจให้มากยิ่งขึ้น

ยุคนี้คอนเทนต์ต้องโดน
นายสรยุทธ กล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีแพลตฟอร์มใดดีที่สุด เพราะผู้บริโภคมีความหลากหลาย แต่ละร้านควรมีมากกว่า 1 แพลตฟอร์ม และต้องมีความเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ พร้อมตอบคำถามลูกค้าตลอดเวลา ที่สำคัญต้องหมั่นศึกษารายละเอียดคู่แข่ง ลองเอาคอนเทนต์เราไปเปรียบเทียบ โดยให้คิดว่าเป็นเหมือนการทำหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ควรมีทั้งประเภทข้อความที่โพสต์ประจำกับข้อความเนื้อหาพิเศษ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและคุมโทนการโพสต์ อย่างน้อยควรลงข้อความวันละ 2 รอบ ยิ่งช่วงวิกฤตโควิด-19 ถนนธุรกิจทุกสายย้ายไปอยู่บนมือถือ คอนเทนต์สินค้าที่จะขายได้ต้องอ่านผ่านมือถือรู้เรื่อง โดยทั่วไปเน้นประเด็นไม่เยอะ สั้นๆ กระชับ แต่ถ้าเป็นเรื่องเด่นพิเศษที่น่าสนใจ ผู้อ่านก็อยากติดตามเข้าไปอ่านเนื้อหายาวๆ ต่อได้ รวมทั้งต้องพยายามมองหาลูกค้ามากกว่า 1 กลุ่ม ร้านใดเคยขายอาหารทั่วไปควรลองหันมาขายอาหารฮาลาลเพิ่มขึ้น พร้อมกับลองสื่อสารข้อมูลผ่านทางโลกออนไลน์ จากนั้นทำการเก็บข้อมูลลูกค้าก่อนนำไปวิเคราะห์เพื่อผลิตเป็นคอนเทนต์
รายเล็กก็ผลิตคอนเทนต์เองได้
ปิดท้ายที่ นายสยาม กล่าวว่า ธุรกิจขนาดเล็กที่มีงบประมาณไม่มาก ก็สามารถผลิตคอนเทนต์โดยใช้อุปกรณ์ง่ายๆ อย่างโทรศัพท์มือถือ ไว้ถ่ายภาพนิ่งและทำคลิปวิดีโอลงในสื่อออนไลน์ ผู้ประกอบการรายเล็กต้องสามารถเป็นเอเจนซีโฆษณาได้ด้วยตนเอง ทำตั้งแต่ Account Executive คนทำหน้าที่ดูแล จัดการ และบริหารลูกค้า รวบรวมข้อมูลทั้งหมดของธุรกิจ ศึกษารายละเอียดคู่แข่ง กำหนดคอนเทนต์ว่าต้องการสื่ออะไร จากนั้นต้องเป็น Creative นำไอเดียมาคิดต่อยอดว่าควรจะนำเสนอคอนเทนต์อย่างไรให้ตอบโจทย์ และเลือกมีเดียที่จะใช้สื่อออกไป ก่อนที่ Art Director จะเอาสิ่งที่ครีเอทีฟคิดมาคุมเนื้อหาไม่ให้หลุดคอนเซ็ปท์ จากนั้นไปจบที่การทำโปรดักชัน ถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายคลิปวิดีโอและตัดต่อ หากมีงบประมาณไม่มาก ก็ต้องทำเองทุกขั้นตอน อาจทำผ่านแอปพลิเคชันง่ายๆ บนโทรศัพท์มือถือ ทำพอให้ใช้กับงานที่ลงในสื่อออนไลน์ได้

สำหรับจุดมุ่งหมายการสร้างคอนเทนต์เพื่อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ มีอยู่ 5 ประการ ได้แก่
- 1. Brand awareness การสร้างคอนเทนต์เพื่อการรับรู้ เหมาะสำหรับการเปิดตัวสินค้าใหม่
- 2. Brand Loyalty การสร้างคอนเทนต์เพื่อตอกย้ำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ หรือสร้างความจงรักภักดีให้กับตัวสินค้า
- 3. Follow up การสร้างคอนเทนต์ให้คนไปติดตามรายละเอียดของสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ
- 4. Sale การสร้างคอนเทนต์เพื่อเน้นขายสินค้าเพียงอย่างเดียว
- 5. Cycle repurchase การสร้างคอนเทนต์เพื่อให้ผู้บริโภคอยากกลับมาซื้อสินค้าซ้ำ
ทั้งหมดเป็นความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง โดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลทั้งรายเล็กและรายใหญ่ที่ต้องการแสวงหาตลาดในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป หันมาเลือกซื้อสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวพัฒนาศักยภาพ นำ e-Commerce ไปใช้ประกอบธุรกิจ โดยอาศัย Digital Economy เป็นเครื่องมือช่วยผลักดันขยายโอกาสและช่องทางการตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขยายธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล