อาหารและโภชนาการ “เด็กวัยเรียน” ถือเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยปัจจุบันภาวะสังคมเปลี่ยนแปลงไป เด็กบางคนพออายุครบ 3 ปี ก็เข้าโรงเรียนกันแล้ว ดังนั้น โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็กจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องอาหารและโภชนาการ ซึ่งจำเป็นต้องมีบุคลากรดูแลจัดการอาหารให้มีคุณค่าทางสารอาหารและพลังงานเพียงพอ
ผศ.พัทธนันท์ ศรีม่วง อาจารย์ด้านอาหารและโภชนาการ โครงการละออพลัส โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ กล่าวถึงพฤติกรรมการบริโภคของเด็กวัยเรียนว่า ถ้าเด็กไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอ จะขาดสารอาหารบางชนิด ก่อให้เกิดโรคได้ ขณะเดียวกันถ้าได้รับในปริมาณมากเกินไป แน่นอนจะเกิดภาวะโภชนาการเกิน น้ำหนักตัวมาก ทำให้เป็นโรคอ้วนได้ ยิ่งในยุคปัจจุบันเด็กวัยนี้มีภาวะสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถเข้าถึงอาหารได้ และรูปแบบอาหารเปลี่ยนแปลงไป หากเด็กๆ อ้วนตั้งแต่วัยเรียน และไม่สามารถควบคุมเรื่องน้ำหนักได้ พอโตเป็นผู้ใหญ่ก็อาจทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ส่งผลต่อสมรรถนะการทำงาน ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างมาก อีกทั้งประสิทธิภาพการทำงานยังด้อยลงกว่าเดิม
“ในอดีตมักเกิดปัญหาขาดอาหารเป็นหลัก แต่ปัจจุบันพบว่าทิศทางปัญหาเปลี่ยนไป พบเด็กอ้วนมากขึ้น โดยในปี 2562 จากการสำรวจของกองโภชนาการ กรมอนามัย พบว่าเด็กอ้วนมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เด็กส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ก็พบว่าขาดสารอาหารเรื้อรังจำนวนมากขึ้น ส่วนกลุ่มเด็กผอมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน”
ผศ.พัทธนันท์ กล่าวอีกว่า ในช่วงปี 2551-2560 มีเด็กไทยช่วงวัยเรียนและวัยรุ่น อายุระหว่าง 10-19 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวาน สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไทยติดรสหวาน มาจากกลุ่มเครื่องดื่มที่มีอิทธิพลมาก แม้จะสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมภายในโรงเรียน แต่หน้าโรงเรียนยังมีจำหน่ายอยู่ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เป็นที่นิยมในกลุ่มเด็ก เช่น ชานมไข่มุก บริโภค 1 แก้ว ให้พลังงานสูงถึง 600 กิโลแคลอรี น้ำตาลไม่ต่ำกว่า 10 ช้อนชา ขณะที่เด็กวัยเรียนควรได้รับน้ำตาลเพียงวันละ 4 ช้อนชาเท่านั้น ส่วนเด็กอีกกลุ่มไม่ได้บริโภครสหวาน แต่ผู้ปกครองให้รับประทานกลุ่มข้าว-แป้งปริมาณมาก เมื่อร่างกายได้รับแล้วเปลี่ยนเป็นน้ำตาล จะส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการค่อนข้างมาก โดยโรคอ้วนจะส่งผลต่อชีวิตเด็ก ไม่ว่าจะเป็น นอนกรน หยุดหายใจ ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ ความดันโลหิตสูง สมาธิสั้น ผลการเรียนเปลี่ยนไป และถ้าเป็นนานๆ จะกระทบต่อหัวใจและปอด ถ้าลูกอ้วนให้ปรับวิถีชีวิตใหม่เข้าสู่วิถีสุขภาพ ที่สำคัญทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติเหมือนกัน เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เด็ก
ผศ.พัทธนันท์ เปิดเผยว่า พฤติกรรมโภชนาการเด็กไทยในวัยเรียน มีดังนี้ 1. ไม่รับประทานผัก-ผลไม้ บางรายปฏิเสธรับประทานผัก ถึงขั้นอาเจียนออกมา ครอบครัวนับเป็นสาเหตุสำคัญ ต้องให้ความร่วมมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก 2. ไม่รับประทานอาหารเช้า ยิ่งช่วงวิกฤตโควิด-19 เด็กบางคนตื่นสาย ไม่ต้องไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ work from home ทำงานที่บ้าน กว่าจะตื่นครบทั้งครอบครัวอาจเลยเวลารับประทานมื้อเช้าไปแล้ว 3. บริโภคขนมขบเคี้ยวและเบเกอรี 4. รับประทานอาหารประเภทผัด ทอด และกะทิ และ 5. รับประทานตามกลุ่มเพื่อนตามความนิยมวัฒนธรรมอาหารแบบตะวันตก
“เด็กอายุ 6-8 ปี มีความต้องการพลังงาน 1,400 กิโลแคลอรีต่อวัน ขณะที่เด็กอายุ 9-12 ปี มีความต้องการพลังงาน 1,700 กิโลแคลอรีต่อวัน ใน 1 วันเด็กวัยเรียนควรรับประทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ ทั้งข้าว-แป้ง เนื้อสัตว์ ผักต่างๆ ผลไม้ และไขมัน-น้ำมัน ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกรับประทานอะไร ตัวเองก็ต้องรับประทานด้วย จะมีผลต่อเด็ก” ผศ.พัทธนันท์ กล่าว
ผศ.พัทธนันท์ แนะนำอีกว่า ปัจจุบันสิ่งที่ควรเรียนรู้ คือ “ธงโภชนาการ” จัดอาหารให้ถูกต้องเหมาะสมกับเด็กในวัยเรียน โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย จัดทำธงโภชนาการสำหรับเด็กอายุ 6-13 ปี ควรบริโภคดังนี้ ข้าว-แป้ง วันละ 8 ทัพพี ผัก วันละ 4 ทัพพี ผลไม้ วันละ 3 ส่วน นม 1-2 แก้ว และเนื้อสัตว์ วันละ 6 ช้อนโต๊ะรับประทานข้าว โดยถ้าแบ่งย่อยรายละเอียดให้ลึกลงไป เด็กอายุ 6-9 ปี ควรรับประทานสารอาหารต่อวัน ดังนี้ นมสด 1-2 แก้ว ไข่ 1 ฟอง ข้าว-แป้งอื่นๆ 6 ทัพพี เนื้อสัตว์ปรุงสุก 5-6 ช้อนโต๊ะ ผลไม้ตามฤดูกาล มื้อละ 1 ส่วน ผักใบเขียวและอื่นๆ 1 ถ้วยตวง ไขมัน-น้ำมันพืช 1-2 ช้อนโต๊ะ ส่วนเด็กอายุ 10-12 ปี ควรรับประทานสารอาหารต่อวัน ดังนี้ นมสด 1-2 แก้ว ไข่ 1 ฟอง ข้าว-แป้งอื่นๆ 5-6 ทัพพี เนื้อสัตว์ปรุงสุก 6-7 ช้อนโต๊ะ ผลไม้ตามฤดูกาล มื้อละ 1 ส่วน ผักใบเขียวและอื่นๆ 1 ถ้วยตวง ไขมัน-น้ำมันพืช 1-2 ช้อนโต๊ะ หากได้รับอาหารไม่เหมาะสม อาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กวัยนี้
ผศ.พัทธนันท์ กล่าวถึงแนวทางการจัดอาหารสำหรับเด็ก มีดังนี้ 1. เด็กต้องได้รับอาหารครบทั้ง 3 มื้อ 2. การปฏิเสธอาหารประเภทผักในเด็กเล็ก ให้เลือกผักไม่มีกลิ่นฉุน รสชาติไม่จัดจ้าน 3. ปรุงอาหารรสชาติจืด เน้นประกอบอาหารด้วยการต้ม นึ่ง อบ แทนการทอด 4. ชิ้นอาหารมีความเหมาะสมกับเด็ก 5. ไม่ให้บริโภคขนมกรุบกรอบ ขนมรสหวาน และน้ำหวานทุกชนิดก่อนรับประทานอาหารมื้อหลัก 6. อาหารว่างระหว่างมื้อเน้นผลไม้ แทนขนมกรุบกรอบและของทอด หรือจัดอาหารว่าง 200-250 กิโลแคลอรีต่อวัน 7. ควรจัดอาหารให้มีความหลากหลาย กระตุ้นความอยากรับประทานอาหาร 8. ฝึกสุขนิสัยที่ดี ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ตักข้าวและกับข้าวให้พอดี รับประทานอาหารให้หมดจาน หลังรับประทานอาหารเสร็จ รู้จักเก็บภาชนะให้เรียบร้อย
ปิดท้ายที่แนวทางการจัดอาหารกลางวันในโรงเรียน ผศ.พัทธนันท์ กล่าวว่า เด็กอนุบาล (อายุ 3-5 ปี) ควรบริโภคข้าว-แป้ง วันละ 1.5 ทัพพี เนื้อสัตว์ 1.5-2 ช้อนโต๊ะ ผัก 0.5-1 ทัพพี ผลไม้ 0.5-1 ส่วน นม 1 แก้ว ไขมัน-น้ำมัน 1 ช้อนโต๊ะ ส่วนเด็กประถมศึกษา 1-3 (อายุ 6-9 ปี) ข้าว-แป้ง 2 ทัพพี เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ ผัก 1 ทัพพี ผลไม้ 1 ส่วน นม 1 แก้ว ไขมัน-น้ำมัน 1.5 ช้อนโต๊ะ และเด็กประถมศึกษา 4-6 (10-12 ปี) ข้าว-แป้ง 3 ทัพพี เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ ผัก 1 ทัพพี ผลไม้ 1 ส่วน นม 1 แก้ว ไขมัน-น้ำมัน 2 ช้อนโต๊ะ
หลายบ้านคุณพ่อคุณแม่กลุ้มใจ ลูกในวัยเรียนอ้วนน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ปกติ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก ดังนั้น ควรหมั่นดูแลจัดอาหารให้ถูกตามหลักโภชนาการ ยิ่งช่วงวิกฤตโควิด-19 เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน ยิ่งต้องใส่ใจก่อนจะสายเกินแก้ จนส่งต่อร่างกายและจิตใจ รวมทั้งสติปัญญาเด็กด้วย
จากแนวทางการจัดอาหารสำหรับเด็กวัยเรียนดังที่กล่าวมานี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาสูตรอาหารสำหรับเด็กวัยเรียน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาประเทศไทยของเราต่อไป…เพราะเด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า…และพวกเขาคืออนาคตของชาติ