เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัท บี มีเดีย โฟกัส (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดงานสัมมนา Roadmap 2024: Dairy & Dairy Products Edition ภายใต้ธีม “Dairy Innovations: The Changing Landscape of Dairy Industry” ณ ห้องจูปิเตอร์ 5-7 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่ออัปเดตการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมนม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากความต้องการของผู้บริโภค ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลก ในงานนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรมากฝีมือและผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์มาร่วมแชร์ความรู้ พร้อมอัปเดตข้อมูลทั้งทางด้านแนวโน้มและนวัตกรรมล่าสุดในอุตสาหกรรมนม รวมถึงการเติบโตของผลิตภัณฑ์นมทางเลือก เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนมสู่ความยั่งยืนต่อไป
เปิดสัมมนาช่วงแรกมาด้วย คุณวรางคณา โตรส เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ กองส่งเสริมและการพัฒนาปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้กล่าวถึงภาพรวมในอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์จากนมของประเทศไทยและทั่วโลก โดยอุปสงค์และอุปทานของโลกและประเทศไทยใน 10 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตที่เพิ่มขึ้น และในปี พ.ศ. 2567 นี้มีการคาดการณ์จากหลายประเทศว่าผลผลิตน้ำนมดิบจะลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น ปัญหาภัยแล้งและหนี้สินของฟาร์มจากภาวะเงินเฟ้อ รวมไปถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงในบางประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2566 มูลค่าการค้าของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมในประเทศไทยนั้นขาดดุลการค้าถึง 13,452.38 ล้านบาท และสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2567 พบว่ามูลค่าการค้าผลิตภัณฑ์นมขาดดุลการค้าอยู่ที่ 2,704.04 ล้านบาท ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ได้มีแผนปฏิบัติการด้านโคนมและผลิตภัณฑ์นมระยะที่ 1 เพื่อสร้างความมั่นคงและความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม รวมถึงพัฒนาระบบอุตสาหกรรมนมของประเทศไทยให้ยั่งยืน
ด้าน คุณอังกูร รุจิพงศ์วาที Key Account Manager – Food & Beverage จากบริษัท วีก้า อินสตรูเมนท์ จำกัด ได้นำเสนอโซลูชันต่างๆ จากบริษัทฯ ที่มาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนมโดยเฉพาะ เพื่อนำมาใช้ในการยกระดับกระบวนการผลิตนมให้มีความปลอดภัยและมีคุณภาพซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภค ด้วยอุปกรณ์การวัดที่มีความจำเพาะกับนมและผลิตภัณฑ์นม รวมถึงให้ความสำคัญกับการนำอุปกรณ์การวัดมาใช้ในแต่ละขั้นตอนการควบคุมคุณภาพ ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การผสม รวมไปถึงการบรรจุ เช่น ถังผสมสำหรับการผลิตชีส ถังกวนและผสมโยเกิร์ต เป็นต้น
ส่วน คุณเสรี ธรรมเสริมสุข ผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์วิกฤตน้ำนมดิบขาดตลาดซึ่งมาจากหลายสาเหตุ อาทิเช่น เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยได้ปิดกิจการลงและเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ผลกระทบจากสงครามอันยาวนานของรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารสัตว์เนื่องจากวัตถุดิบหลักในอาหารสัตว์จะนำเข้าจากประเทศยูเครน จึงส่งผลให้ราคาน้ำนมดิบสูงขึ้น อีกทั้งราคาส่วนผสมต่างๆ ก็ต่างปรับราคาขึ้นราสูงขึ้นเช่นกัน เช่น กาแฟ และโกโก้ นอกจากนี้ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงจากคู่ค้า การควบรวมกิจการ การขยายสาขา รวมไปถึงแบรนด์ต่างชาติที่เข้ามาขยายสาขาในประเทศไทยมากขึ้น แม้กระทั่งซีพี-เมจิซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์นมยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเหล่านี้ จึงต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงคาดการณ์เทรนด์ของผู้บริโภค และเตรียมรับมือกับผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
ผศ.ดร. อุลิสาณ์ พาชีครีพาพล สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้มาแบ่งปันความรู้เชิงลึกรวมถึงเทคโนโลยีเกี่ยวกับนมและผลิตภัณฑ์นม โดยประชากรร้อยละ 70 ของโลกนั้นมีอาการแพ้น้ำตาลแลคโตสในนม (Lactose intolerance) ซึ่งจะไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสได้เนื่องจากขาดหรือมีปริมาณเอนไซม์แลคเตสน้อย จึงทำให้ท้องอืด ท้องเสีย ส่วนโปรตีนในนมนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ เคซีนและเวย์โปรตีน ซึ่งเคซีนนั้นมีส่วนประกอบของโปรตีนเบต้าเคซีน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าหากดื่มนมวัวแล้วมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย อาจจะไม่ได้มาจากการแพ้น้ำตาลแลคโตส แต่อาจจะมาจากการได้รับเปปไทด์ BCM-7 (Beta-Casomorphin-7) ซึ่งได้มาจากการย่อยนมวัวในกลุ่มเอวัน (A1) นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์นมในกลุ่มอื่นๆ เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต รวมไปถึงหลักการกล่าวอ้างทางสุขภาพเพื่อการโฆษณาสินค้าอีกด้วย
รศ.ดร. อินทาวุธ สรรพวรสถิตย์ ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงเทรนด์ผลิตภัณฑ์แพลนท์เบสเพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยม คือ นมจากโปรตีนของพืช ทั้งจากถั่วเหลือง ถั่วเขียว อัลมอนด์ ธัญพืชต่างๆ แต่ก็ยังมีความท้าทายในด้านกลิ่นรสและเนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์ เช่น กลิ่นเหม็นเขียวหรือกลิ่นหญ้า เนื่องจากในนมประกอบด้วยสารชีวโมเลกุลขนาดใหญ่ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต หรือไขมัน ดังนั้นการเติมกลิ่นรสซึ่งเป็นสารเคมีจะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีและสร้างพันธะทางเคมีซึ่งส่งผลต่อกลิ่นรสของผลิตภัณฑ์ กล่าวคืออาจจะไม่ได้กลิ่นที่ตั้งใจจะเติมลงไป หรืออาจได้กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์กลับมาแทนนั่นเอง โดยหนึ่งในวิธีแก้ไข คือ การใช้ Masking agent เพื่อส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์มีกลิ่นรสที่ต้องการ นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงงานวิจัยในเรื่องกลิ่นรสจากพืชอีกด้วย
ปิดท้ายด้วย คุณนภนีรา รักษาสุข ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ยินดีดีไซน์ จำกัด ได้มาร่วมแชร์ไอเดียในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์นมให้ตรงโจทย์และตรงใจผู้บริโภค โดยกล่าวถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่กับเทรนด์ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก (Organic) และผลิตภัณฑ์แพลนท์เบส (Plant based) รวมถึงการใส่ใจสุขภาพและหลีกเลี่ยงสารเคมี ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งผู้บริโภคจะยอมจ่ายเงินที่สูงขึ้นให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีแนวคิดและจุดยืนเดียวกันกับตนเองและบุคคลสำคัญ พร้อมคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อโลก เช่น ในกลุ่มผู้บริโภคสีเขียว (Green consumer) จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายหรือรีไซเคิลได้ (Green packaging) แม้จะมีราคาที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันก็ตาม ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวหรือสร้างจุดยืนให้แบรนด์ รวมถึงสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ฉลากสะอาด (Clean labels) ต้องมีการระบุรายละเอียดอย่างโปร่งใส และการระบุจุดยืนของแบรนด์ให้ชัดเจนหรือสร้างเรื่องราว (Story telling) ที่สามารถปฏิบัติได้จริงเพื่อให้ผู้บริโภครับรู้และสามารถเข้าถึงได้ เป็นต้น
สำหรับงาน Roadmap ครั้งถัดไป พบกับงานสัมมนาสำหรับชาวอุตสาหกรรมอาหารแช่เย็นและแช่แข็ง ในวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ณ ห้องจูปิเตอร์ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี